กรรมแก้ไม่ได้ ?
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำว่า “แก้กรรม” และบางครั้งก็ได้ยินคำว่า “กรรมแก้ไม่ได้” จริงๆ แล้ว กรรมสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ? เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับ “กรรม” รวบรวมไว้ที่นี่แล้ว
ทุกวันนี้…เราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือไม่ ?
กรรมที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่เมื่อเราทำวันนี้แล้ว เมื่อวานก็จะถือว่าเป็นกรรมเก่า ดังนั้นกรรมใหม่จึงสำคัญกว่ากรรมเก่า เพราะอยู่ในวิสัยที่เราสามารถสร้างได้
– สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) –
ถ้ามัวไปยึดถือว่า แล้วแต่กรรมเก่าปางก่อนอย่างเดียว ก็จะทำกรรมใหม่ที่เป็นบาปอกุศลโดยไม่รู้ตัว
ท่านไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านสอนไม่ให้เชื่อว่าอะไรๆ จะเป็นอย่างไรก็เพราะกรรมเก่า
• การเชื่อแต่กรรมเก่า ก็สุดโต่งไปข้างหนึ่ง
• การไม่เชื่อกรรมเก่า ก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
กรรมเก่า – เราแก้ได้หรือไม่ ?
– หลวงตามหาบัว –
“กรรมแก้ไม่ได้ กรรมเป็นกฎตายตัว เป็นหลักธรรมชาติ“
พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม ไม่เคยมาแก้กรรม นี้เลย กรรมแก้ไม่ได้เพราะเป็นหลักธรรมชาติ จึงสอนให้ปรับปรุงตัวเองให้เข้าสู่กรรม กรรมดีให้บำเพ็ญ กรรมชั่วให้ละ
– หลวงพ่อพุธ ฐานิโย –
“แก้ผลของกรรมนี่มันแก้ไม่ได้ ใครมีกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น“
ท่านผู้ใดต้องการจะตัดกรรม ตัดเวร กรรมเวรที่เราทำไว้ตั้งแต่เมื่อก่อนนั้น เราจะไปทำพิธีตัดด้วยการรดน้ำมนต์พระ หรือไปไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือจะไปทำพิธีการอันใดเพื่อตัดกรรมตัดเวรที่เราทำไปแล้วนั้น ไม่มีทาง
ถ้ากรรมเก่าแก้ไม่ได้แล้ว พอจะมีหนทางไหนช่วยเราได้บ้าง
– สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร –
“เราผู้ไม่มีตาวิเศษก็หารู้ไม่ กรรมดีเท่านั้นที่เป็นแรงพาเราวิ่งหนีกรรมไม่ดีที่ส่งผลติดตามเราอยู่ในขณะนี้“
เปรียบกรรมไม่ดีดั่งมือมารที่ใหญ่โตมโหฬารทรงพลังมากมาย มือนั้นกำลังเอื้อมมาตะปบเราเพื่อลากเข้าไปขยี้ให้แหลกเหลวหวุดหวิดจะจับปลายผมเราได้ไม่รู้กี่ครัั้งกี่หน
แต่เราก็ยังพ้นอยู่ได้เพราะความบังเอิญ คือ เพราะบังเอิญได้ทำกรรมดีไว้มากพอ เป็นกำลังพาให้หลบหลีกพ้นมือมารไปได้ มีความสวัสดีอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ใช่ว่ามือมารนั้น จะหยุดตามตะครุบเราก็หาไม่ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ภพ กี่ชาติ มือมารจะติดตามตะครุบเราอย่างไม่ท้อแท้เหน็ดเหนื่อย คว้าผิดคว้าถูกก็จะตามคว้าไม่ลดละ ถ้าปรากฏเป็นภาพก็จะเป็นภาพที่น่ากลัวที่สุด
พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) – หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
“การจะทำให้หมดบาปนะไม่มีทางหรอก ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ทางเดียวคือ ทำบุญหนีบาป “..เรื่องเคราะห์กรรม เป็นวิธีเรียกของพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กฎของกรรม
สะเดาะเคราะห์ หมายความว่า ทำให้เคราะห์หมด คำว่า สะเดาะเคราะห์ไม่มีศัพท์ในทางพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์ของคณาจารย์ต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาไม่มี ในเมื่อไม่มี ทำไมวัดท่าซุงจึงบอกว่า สะเดาะเคราะห์ ก็เลยบอกว่าพูดตามเขา ทีนี้การทำคราวนี้ไม่ใช่สะเดาะเคราะห์ เป็นการสร้างความดี ความโชคดีให้เกิดขึ้น คือ หมายความว่าทำบุญให้มีกำลังสูง
คำว่า เคราะห์ คือ บาป เราล้างไม่ได้แต่ถ้าหากว่าทำความดีให้มีกำลังสูงกว่า คำว่า“เคราะห์” จะเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับคนยืนอยู่กลางแดดจัดๆ เวลานี้อยู่ในร่มมันก็ร้อน ถ้ายืนกลางแดดมันก็ร้อน ถ้าทำบุญน้อยๆ ก็เหมือนกับมีร่มเล็กๆ ไปกางบังอยู่มันก็เย็นไปหน่อยหนึ่ง
ทำบุญที่มีอานิสงส์มากๆ ก็เหมือนกับมีคนเอาน้ำไปราดให้ ก็มีความเย็น ถ้าทำบุญที่มีกำลังสูงใหญ่ อย่างเราเจริญกรรมฐาน เหมือนกับเราแช่ในอ่างน้ำ ถึงเราจะอยู่กลางแจ้ง กลางแดด ความร้อนมันก็น้อยไป ข้อนี้ฉันใด การสะเดาะเคราะห์ก็เหมือนกัน การสะเดาะเคราะห์ไม่ได้ทำให้หมดไป
บุญที่มีกำลังสูงใหญ่ คือ “การเจริญกรรมฐาน” หรือ การเจริญภาวนา แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
- สมถภาวนา คือ การทำจิตให้สงบ เพื่อให้จิตตั้งมั่น เกิดสมาธิ
- วิปัสสนาภาวนา คือ การทำปัญญาให้เกิดขึ้น ให้รู้แจ้งในความจริง
แล้วที่เราได้ยิน คำว่า “แก้กรรม” คืออะไร
คำว่า “แก้กรรม” ตรงนี้ มีความหมายนัยเดียวกันกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ นั่นคือ กรรมไม่ได้หมดไป แต่ด้วยกรรมฐานเป็นบุญที่มีกำลังสูง ผนวกกับการที่เราเกิดรู้วาระกรรมล่วงหน้า เห็นกรรมจากการเจริญกรรมฐาน เราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำดีและขออโหสิกรรม จึงช่วยทำให้กรรมนั้นบรรเทาเบาบางลงได้
พ่อจรัญ จิตธมฺโม (พระธรรมสิงหบุรราจารย์)
เราต้องแก้กรรม ของเราเสีย อ๋อ! ปาณาติบาตเมื่อชาติก่อนติดมา เรายังไม่ง่อยเปลี้ยเสียขาในขณะนี้ เราจะต้องรับสนองผลงานในโอกาสหน้า เราก็รีบบำเพ็ญกุศล ด้วยการ “แก้กรรมด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน” เราก็มาบำเพ็ญทานศีลและภาวนา สวดมนต์เป็นนิจ อธิษฐานจิตเป็นประจำ อโหสิกรรมเสียก่อนและเราก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เราไปสร้างกรรมมาครั้งอดีต รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง รู้เท่าทันหรือไม่เท่าทันก็ตาม ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่นนี้แล้ว ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า มันก็จะน้อยลงไป ยกตัวอย่างอาตมาเป็นต้น
อาตมารู้ตัว ๖ เดือน ก็ขออโหสิกรรมทุกวัน ว่าเราก็ไปหักคอนกมามากหลาย เราก็บอกว่า พ่อนกเอ๊ยตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่าเอาโทษเราเลย ขอให้โทษเราลดลงไป ให้อภัยโทษเถิด เหมือนให้การกับศาลรับสภาพฉะนั้น
ศาลจะเมตตาเราที่ให้ความสะดวกในการพิจารณาของศาล จึงลดโทษลงไปอีก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เราอาจจะรอดจากความตายได้ เลยก็เตรียมให้รถชนคอหักหมุนได้ แล้วก็กลับมาใช้เวรกรรมให้สิ้นสุดในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ผ่านจากหนักเป็นเบาได้ คือมิได้ปฏิเสธทุกข้อหาด้วยกรรมฐาน แก้กรรม ได้อย่างนี้ โดยรู้ตัวของเราเอง
– – จากเรื่อง “กรรมฐานแก้กรรมได้อย่างไร” โดย หลวงพ่อจรัญ —
หากเราพบเจอคำว่า “แก้กรรม” ให้เราพิจารณาในเนื้อหาก่อนว่าสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อถึงนั้น เป็น วิธีการสร้างบุญและบารมี หรือไม่
เจ้ากรรมนายเวรมีจริงหรือไม่
เจ้ากรรมนายเวร เปรียบเสมือนเจ้าหนี้ของเรา อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น เราไปฆ่าใครมา เมื่อคนนั้นตายไปเขาอาจจะตกนรกชดใช้กรรมของเค้าเองก่อนตามกฎแห่งกรรม จึงไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะมาตามทวงนี้เราได้
แต่เมื่อถึงกาลที่รอบแห่งกรรมมาบรรจบเจอกัน เขาอาจจะกลายเป็นคนหรือเป็นสัตว์ มาทำร้ายให้เราตายได้ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีตัวตน ผู้มีญาณวิเศษเท่านั้นที่จะมองเห็น
– สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร –
“ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมไม่ปฏิเสธความเชื่อที่มีอยู่ว่า เจ้ากรรมนายเวรนั้นมี”
ผู้มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ ประกอบด้วยสัมมาปัญญา แม้จะไม่เห็นหน้าตาของเจ้ากรรมนายเวร แต่ย่อมไม่ประมาทไปว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีและย่อมไม่เห็นเป็นความเหลวไหล ไม่มีเหตุผลที่ท่านสอนให้ทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร เช่นเดียวกับท่านผู้เป็นมารดาบิดาบุพการีผู้มีคุณทั้งปวง อะไรที่ไม่มีเสียหายมีแต่ได้หรือเสมอตัว ผู้มีปัญญาย่อมทำย่อมไม่ปฏิเสธ
เมื่อเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้แล้ว เรายังต้องรับกรรมอีกหรือไม่
– หลวงพ่อพุธ ฐานิโย –
อันนี้ต้องทำความเข้าใจ กรรมที่เราทำโดยมีคู่กรณี เช่น ชกต่อย ตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ในเมื่อทำลงไปแล้วต่างคนต่างเจ็บ แค้นใจ มันคู่กรรมจองเวรกัน คือ คอยที่จะล้างจะผลาญกัน แก้แค้นกันอยู่เสมอ ทีนี้ในเมื่อปรับความเข้าใจได้แล้ว ต่างคนต่างก็ยกโทษให้กัน อโหสิกรรมให้กัน การผูกพยาบาท อาฆาต จองเวร ก็หมดไป เพราะเราไม่คิดที่จะทำร้ายกันต่อไปอีก แต่บาปกรรมที่ไปตีหัวเขานั้นอโหสิไม่ได้ เพราะมันเป็นกฎธรรมชาติ
เราไปด่าเขามันก็เป็นบาป มันผิดศีลข้อมุสาวาท ตีเขา ฆ่าเขา ก็เป็นฉายาแห่งปาณาติบาต ถึงเขาไม่ตายก็ตาม ถ้าเขาตายก็เป็นปาณาติบาต แม้ว่าผู้ที่ถูกทำร้ายจะอโหสิกรรมให้ คือ ไม่จองเวรกันต่อไป กรรมที่ผู้นั้นกระทำลงไปแล้วย่อมแก้ไม่ตก นี่ต้องเข้าใจกันอย่างนี้
ที่นี้เราทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขาได้รับส่วนกุศลของเรา เขาได้เกิดดีถึงสุข พ้นจากที่ที่เขาอยู่ซึ่งมันเป็นที่ทุกข์ทรมาน เขาดีอกดีใจ เขานึกถึงบุญคุณเรา เขาก็อโหสิกรรมให้เราได้ แต่กรรมที่เราฆ่าเขานั้น ก็ยังเป็นผลกรรมที่เราจะต้องสนองอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ใดต้องการตัดเวรก็ต้องให้มีศีล 5 …
กรรมใหม่ – สำคัญกว่ากรรมเก่า ?
– หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี –
“เราทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว จะให้ใครแก้ไม่ได้ จะมาแก้เพราะขอให้ไม่ได้”
บางคนนั้นถือโน่น ถือกระทั่งจนว่าเจ้ากรรมนายเวรไปโน่นอีก ทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวร ให้ละกรรมละเวร อย่าให้เป็นกรรมเป็นเวรต่อไป อันนั้นก็ไม่จริง เจ้ากรรมนายเวรที่ไหนมันจะรับรู้ เราทำด้วยความอิจฉาริษยา ด้วยความโทมนัสน้อยใจ ทำกรรมอะไรต่างๆ ทำด้วยจิตเจตสิกอันที่แก่กล้าแรงที่สุด มาทีหลังรู้ตัวว่า จะไปขอให้อโหสิกรรมให้ มันจะรู้เรื่องอะไร
คนจะพ้นจากกรรมจากเวรกันได้ก็ต่อเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้อโหสิกรรมกันได้เท่านั้นเอง ตายแล้วไม่ได้หรอก มันไม่ทราบว่าไปเปรตโลก มันไม่ทราบว่าไปอยู่ไหน อายุยืนนานแสนนาน เราตายอีก แล้วชาติก่อนชาตินั้นก็ไม่รู้ไม่เห็นกัน ในเมื่อแล้วเห็นอยู่ดีๆเนี่ยแหละ อโหสิกรรมให้กันเสีย อันนั้นน่ะจะพ้นกรรมได้
– หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ –
ยกตัวอย่างเช่นว่า เราผูกโกรธไว้กับคนใดคนหนึ่งอย่างนี้นะ ในใจนั่นนะ เมื่อนึกถึงคนนั้นมา ใจขุ่นขึ้นมาอย่างนี้นะ นั่นแหละเรียกว่าบาปมันเกิดขึ้นในใจ ทีนี้เมื่อเราเห็นว่า เอ๊ะ อารมณ์อย่างนี้ ความคิดอย่างนี้มันเป็นบาปนิ เราจะไปยึดถือมันไว้ทำไม เอ้า เราต้องให้อโหสิกรรมเข้าไปซะ คนที่ตนเกลียดตนชังต่างๆหมู่นั้นนะ
เราขออโหสิกรรมให้เลย ไม่ให้เป็นกรรมเป็นเวรผูกพันกันไปแหละ อย่างนี้นะ แล้วเราก็กำหนดละอารมณ์อันนั้นแหละ อารมณ์อันเกลียดชังคนอื่นสัตว์อื่นนั่นน่ะ เมื่ออารมณ์อันนั้นมันดับลงไป จิตเราก็รวมลงเป็นหนึ่งเยือกเย็นสบายขึ้นมาแทนความเร่าร้อนอันนั้นน่ะ นั่นแหละ บุญกุศลมันเกิดขึ้นในใจ
ต้นเหตุแห่งกรรม คืออะไร ?
– หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก –
ทีนี้พระพุทธเจ้าน่ะท่านมองเห็นอันนี้แหละ การจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกันนั่นหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ในชาตินี้เขาก็ชนะเรา แต่ไปชาติหน้า เราก็ชนะเขา ก็คือเราไปฆ่าเขา ชาติต่อไปอีก เขาก็มาฆ่าเราอีก ทีนี้มันไปสิ้นสุดตรงไหน มันไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ก็จึงมาค้นหาเหตุ เหตุอันนี้มันมาจากไหน เหตุนี้ก็มาจากกิเลส กิเลสนั้นมันเป็นต้นเหตุ ธรรมทั้งหลายนั้นมันเกิดขึ้นจากเหตุ จะดับไปก็ดับไปเพราะเหตุแห่งธรรมนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอก
กรรมตัดรอน คืออะไร
– พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) – หลวงพ่อฤาษีลิงดำ –
คำว่า อุปฆาตกรรม หมายถึงว่า กรรมที่มาตัดรอนระหว่างชีวิต คือ มันยังไม่หมดอายุขัยก็ตายเสียก่อน แทนที่จะมีอายุครบ ๖๐ ปีตามอายุขัย แต่อายุ ๓๐-๔๐ ปี กรรมที่เป็นอกุศลกรรม คือ ที่เราทำบาปไว้แต่ชาติก่อน ด้วยจากปาณาติบาตมาตัดชีวิตเสียก่อน
ทำดี ไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดี ?
– หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม –
มีบางคนชอบพูดคะนองปากกว่า “ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”
พูดอย่างนี้ผิด พูดไม่รู้จริง เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี้ เราต้องใจเย็น คอยดูผลตลอดชีวิต อย่าดูในระยะสั้นๆ
ต้องดูไปเรื่อยๆ ในระยะยาว อย่าใจร้อน
– สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร–
“ความดีให้ผล เหมือนกลางวัน ความชั่วให้ผล เหมือนกลางคืน”
” .. ฉะนั้น บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ในระยะกาลที่ความดีให้ผลก็มีชีวิตสว่างรุ่งเรือง แม้จะทำความชั่วในระหว่างนั้นก็ยังสว่างไสวอยู่ก่อน จนกว่าจะถึงกาลที่ความชั่วให้ผล แต่เมื่ออยู่ในระยะกาลที่ความชั่วให้ผล ชีวิตก็อับแสงเศร้าหมอง ถึงจะทำความดีในระหว่างนั้นก็ยังอับแสงต่อไป จนกว่าจะถึงกาลแห่งความดีให้ผล
อยู่เหนือกรรม ทำอย่างไร
– พุทธทาสภิกขุ –
เรื่องกรรมของพระพุทธศาสนานั้น ได้กล่าวถึงกรรม (การกระทำ) ที่จะให้สิ้นกรรมอีกด้วย กล่าวคือ ให้สิ้นไปทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว เพื่อไม่ต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมดี กรรมชั่ว เลยกลายเป็นการอยู่เหนือกรรม ไม่ต้องหวั่นไหว หรือเป็นทุกข์ เพราะดีเพราะชั่ว คือเป็นพระนิพพาน (สภาพแห่งความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง) นั่นเอง
– หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี –
สงสารวัฏนี่ยืดยาวนานแสนนานที่สุด ที่จะพ้นจากกรรมได้อยาก เกือบจะมองไม่เห็น.. แต่ไม่ใช่ของเหลือวิสัยที่คนเราจะพ้นจากกรรมได้
ด้วยการประกอบคุณงามความดี อันเป็นโลกุตรธรรม …. คนเราถ้าไม่มีกรรมก็ไม่เกิด มันมีกรรมจึงค่อยเกิด ถ้าหมดกรรมหมดเวรแล้วก็หมดเรื่องกันถึงพระนิพพานเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
|