ขันธ์ 5 : อธิบายแบบง่ายๆ

ขันธ์ 5 : อธิบายแบบง่ายๆ

นอกจากเรื่องอริยสัจ 4 และมรรค 8 ที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ขันธ์ 5 ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจพุทธศาสนา เพราะเป็นต้นตอของความทุกข์ในอริยสัจ 4 นั่นเอง

การท่องจำว่าขันธ์ 5 มีอะไรบ้างนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำความเข้าใจและเห็นการทำงานของมันในชีวิตประจำวันต่างหาก ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันยาวนาน ผู้เขียนจะพาไปทำความรู้จักขันธ์ 5 ผ่านตัวอย่างที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษา

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลย…

ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์

ประกอบไปด้วย รูป และ นาม (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

  • รูป คือ ร่างกาย ประกอบด้วยธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) หรือวัตถุที่เราสามารถเห็น สัมผัส ได้ยิน ดมกลิ่น รับรู้รสได้ โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น และกาย)
  • เวทนา ความรู้สึก เช่น รู้สึกสุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ
  • สัญญา ความจำ หรือการระลึกถึงสิ่งที่เคยประสบหรือรับรู้มาก่อน
  • สังขาร ความคิด รวมถึงการปรุงแต่ง
  • วิญญาณ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสและจิตใจ

ลองมองรูปด้านล่างสัก 10 วินาที

ส้มตำ
ภาพจาก freepik Image by jcomp on Freepik

เมื่อตา เห็นรูปด้านบน เรารู้ได้เลยทันทีว่าเป็น “ส้มตำไทย” เห็นแล้วรู้สึกอยากกิน รู้สึกหิว คิดว่าจะไปกินเมื่อไหร่ดี ไปกินร้านไหนดี ไปถึงแล้วจะสั่งพริกกี่เม็ดดี ขับรถไปดีมั้ย ชวนใครไปบ้างดีนะ

นี่คือตัวอย่างการทำงานของขันธ์ 5 แจกแจงได้ดังภาพด้านล่าง

ขันธ์ 5

ตัวอย่างถัดไป ให้เราลองดูวิดีโอ ด้านล่าง

โอเลี้ยง

ดูแล้ว รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง ?

ขันธ์ 5

ถ้าไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่เคยมีความจำกับสิ่งนั้นๆ เลย – สัญญาขันธ์ ทำงานหรือไม่ ?

คำตอบ คือ สัญญานั้นทำงานด้วย

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เคยเห็นกับประสบการณ์เก่าๆ ? นี่แหละคือการทำงานของสัญญาขันธ์

วิธีทำงานของสัญญาขันธ์

  • พยายามค้นหาความทรงจำที่คล้ายคลึง โดยเปรียบเทียบจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เช่น น้องหมาในคลิปเคยเห็นที่ไหนมาก่อนรึเปล่า ? นักแสดงนำ หน้าคล้ายๆ ใคร ? หรืออาจจะมีภาพของน้องหมาที่เราเคยเลี้ยงแวบขึ้นมา
  • สร้างความทรงจำใหม่
  1. บันทึกภาพที่เห็น
  2. เก็บความรู้สึกครั้งแรกที่ดู
  3. จดจำรายละเอียดต่างๆ

    อธิบายง่ายๆ คือ “สิ่งที่ไม่เคยเห็นมันก็จะพยายามค้นหา จากนั้นก็จะเมมโมรีเก็บไว้” ถ้าเรากลับมาดูวิดีโอนี้ซ้ำ เราก็จะจำได้โดยอัตโนมัติ จำได้กระทั่งว่า อารมณ์ครั้งแรกที่ดูเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนสมองเรามี “ระบบค้นหา” + “ระบบบันทึก” ที่ทำงานตลอดเวลา แม้เจอสิ่งใหม่ๆ

    ค้นหา
    Photo by Lorin Both on Unsplash

    ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ การทำงานของขันธ์ 5 นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเกิดในทุกๆ ช็อตของวิดีโอ ขันธ์ 5 ทำงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ตา หู ความจำ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ

    ลองดืิ่มน้ำเย็นในแก้ว แล้วลองพิจารณาขันธ์ 5

    ขันธ์ 5

    ในขณะนั่งสมาธิ หรือหลับตา ขันธ์ 5 ทำงานหรือไม่ ?

    ให้ทดสอบ โดยการหลับตา สัก 5 นาที แล้วดูลมหายใจเข้าออก

    ขันธ์ 5

    แม้ในขณะที่เรานั่งสมาธิ ขันธ์ 5 ก็ยังคงทำงาน บางคนฟุ้งซ่าน บางคนสงบ

    ขันธ์ 5 ทำงานพร้อมกันหรือไม่ ?

    ขันธ์ 5 ทำงาน พร้อมกัน และ สัมพันธ์กัน โดยตลอด แต่ในบางกรณี อาจดูเหมือนว่าขันธ์บางอย่างไม่ทำงานหรือทำงานน้อยลง เช่น เวลาเราหมดสติหรือหลับลึก ขันธ์ส่วนใหญ่จะหยุดทำงานชั่วคราว เหลือแค่รูปขันธ์ทำงาน (หายใจ หัวใจเต้น) แต่พอเราทำงานที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน ขันธ์ทั้ง 5 จะทำงานพร้อมกัน แต่ละส่วนอาจทำงานหนักเบาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น

      ขันธ์ 5 ทำงานเหมือนนักดนตรีในวงออเคสตร้า
      ทำงานพร้อมกันและประสานกันตลอดเวลา แต่บางช่วงอาจมีเครื่องดนตรีบางชิ้นเด่นกว่าชิ้นอื่น

      กิเลสเริ่มต้นอย่างไร?

      กิเลสมักเริ่มจาก 2 ขันธ์หลัก

      • เวทนาขันธ์ ความรู้สึกเบื้องต้น
      • สังขารขันธ์ ความคิดปรุงแต่ง

      แต่บางครั้ง รูปขันธ์ อย่างเดียวก็กระตุ้นกิเลสได้ เช่น เห็นป้าย “ลดราคา 70%” แล้วเกิดอยากได้ขึ้นมา

      1. ความโลภ : อยากได้ อยากมี ติดใจในสิ่งที่พอใจ

      2. ความโกรธ : ไม่พอใจ ขุ่นเคือง กลียดชังสิ่งที่ไม่ถูกใจ

      3. ความหลง : เข้าใจผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง

      ส่วนอนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดที่แฝงอยู่ในจิต ยังไม่แสดงออกมาเป็นความคิดหรือการกระทำ จัดเป็นส่วนหนึ่งของสังขารขันธ์ เพราะเกิดจากการปรุงแต่งทางจิต เช่น ความถือตัว ริษยา หรือความลังเลสงสัย

      อารมณ์ เกิดขึ้นที่ขันธ์ไหน

      อารมณ์คืออะไร? อธิบายอย่างง่ายๆ เลย อารมณ์เปรียบเสมือนสีสันในชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อเราเจอเหตุการณ์ต่างๆ เช่น

      • อารมณ์บวก : ความสุข ความรัก ความพึงพอใจ
      • อารมณ์ลบ : ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว
      • อารมณ์กลางๆ : ไม่สุขไม่ทุกข์

      ในทางพุทธศาสนา อารมณ์เกิดจากการทำงานของ 2 ขันธ์หลัก

      1. เวทนาขันธ์ เป็นเหมือน “หน้าจอสัมผัส” ของโทรศัพท์ รับความรู้สึกเบื้องต้นทันทีที่สัมผัส แยกแยะได้ว่า สุข-ทุกข์-เฉยๆ
      เป็นความรู้สึกพื้นฐาน ไม่ซับซ้อน

      2. สังขารขันธ์ ทำหน้าที่เหมือน “แอพ line” ที่ปรุงแต่งต่อ นำความรู้สึกมาคิดต่อ ปรุงแต่งเพิ่มเติม สร้างเรื่องราว จินตนาการ คาดการณ์ ทำให้เกิดอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น

      ตัวอย่างการทำงานร่วมกัน
      ส่งข้อความหาแฟน เแฟนอ่านแล้วแต่ไม่ตอบ (เวทนา: รู้สึกไม่ชอบ) → คิดต่อว่าเขาเมิน (สังขาร: ปรุงแต่งเพิ่ม) → เกิด ความน้อยใจ โกรธ เสียใจ (อารมณ์)

      สรุปง่ายๆ ก็คือ อารมณ์เป็นผลรวมของการรับรู้ความรู้สึกและการปรุงแต่งทางจิตใจนั่นเอง

      อารมณ์จึงมีความเข้มข้นในจิตใจของเรามากกว่าความรู้สึก ยกตัวอย่างแผนภาพด้านล่าง ที่ผู้เขียนแปลไทยมาจาก “วงล้อแห่งอารมณ์” จากนักจิตวิทยา Robert Plutchik โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการเข้าใจและระบุอารมณ์ที่มนุษย์ประสบในสถานการณ์ต่างๆ

      สีเข้ม (วงใน): บ่งบอกถึงอารมณ์ที่เข้มข้นหรือรุนแรงกว่า

      สีอ่อน (วงนอก): บ่งบอกถึงอารมณ์ที่อ่อนหรือเบากว่า

      วงล้อแห่งอารมณ์

      “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก่อให้เกิดเวทนาและการปรุงแต่ง จนกลายเป็นอารมณ์ที่อาจทำลายล้างตนเองหรือผู้อื่นได้”
      นี่คือเหตุผลที่ครูบาอาจารย์มักสอนให้ “รู้เท่าทันอารมณ์”

      emotion
      Photo by Lidya Nada on Unsplash

      บทสรุป

      ความทุกข์เกิดจากการที่เราไปยึดขันธ์ทั้ง 5 ว่าเป็นตัวเรา ของเรา เช่น ยึดติดกับรูปลักษณ์ว่าสวยหรือไม่สวย ยึดติดกับความสุข ยึดติดกับอดีต หรือยึดติดกับความรักความแค้น ทั้งที่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่มีตัวตนและไม่เที่ยงแท้ เช่นความสนุกที่รู้สึกตอนนี้ อีกสักพักก็กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ

      ดังนั้น การจะพ้นจากความทุกข์ได้ เราจึงต้องศึกษาธรรมะเพื่อเข้าใจกระบวนการทำงานของขันธ์ 5 ฝึกสติให้รู้เท่าทันปัจจุบันและทันความคิด ฝึกปล่อยวางไม่ยึดติด และเจริญปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง

      เพราะร่างกายและจิตใจเป็นเพียงที่พักชั่วคราว อย่าหลงยึดว่าเป็นบ้านถาวร

      happy
      Photo by MI PHAM on Unsplash
        ขอขอบคุณข้อมูลจาก ::
        https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1018959
        https://commons.wikimedia.org