สวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์
(หนังสือคู่มืออุบสก อุบาสิกา ทำวัตรเช้า เย็น และบทสวดมนต์พิเศษและศาสนพิธี)
หนังสือแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบสวดมนต์โดยเฉพาะการสวดมนต์แปล คือ หนังสือคู่มืออุบสก อุบาสิกา ทำวัตรเช้า เย็น และบทสวดมนต์พิเศษและศาสนพิธี แปลไทย ฉบับพทุธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ตามแบบฉบับสวนโมกขพลาราม หนังสือเล่มนี้มีการเรียบเรียงแสดงความเป็นมาอย่างสังเขปและคำแปลของแต่ละพระสูตรเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อและประกอบการเจริญจิตตภาวนา
ในหนังสือมีคำอธิบายว่า
“รูปแบบการทำวัตรสวดมนต์มีมาแต่โบราณแล้วแต่ยังไม่เป็นแบบแผนเดียวกันพระภิกษุสามเณรแต่ละสำนักต่างเลือกบทสวดกันตามอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมัยที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในฉายา วชิรญาณภิกขุ ทรงพิจารณาในข้อนี้ จึงทรงคัดเลือกคำสอนในพระสูตรต่างๆ จากพระไตรปิฎก ในส่วนบททำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทรงเลือกบทระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จากธชัคคสูตรเป็นบทหลัก และยังปรากฏในพระสูตรอื่นๆ อีก แล้วทรงพระราชนิพนธ์ประกอบเพิ่มเติม…”
ผู้เขียนขอคัดข้อความบางส่วนจากบทความในเวปไซต์ของสวนโมกข์ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับสวดมนต์ทำวัตร ดังนี้
“เรื่องทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนี่ไม่มีประเพณีในครั้งพุทธกาล เรามาตั้งกันขึ้นในประเทศนี้ที่พุทธศาสนาเข้ามาถึง แต่ว่าการกระทำบางอย่างซึ่งรวมอยู่ในการทำวัตรสวดมนต์นี่มันมีในครั้งพุทธกาล นั่นคือการสาธยายธรรม
ถ้าเธอมีปัญญาฉลาดสังเกตจะพบว่าที่เรียกว่าทำวัตรทำวัตรเย็นนี่ ที่จะทำ ที่กำลังจะทำ ทำวัตรเย็นนี่ ในการทำวัตรเย็นนั่น อย่างแรกที่สุดมันก็มีการสาธยายธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติ หรือสาธยายรายละเอียดของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งก็กล่าวได้ว่าหรือเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้และต้องปฏิบัติด้วยเหมือนกัน นี่เพื่อไม่ให้มันลืม เขาก็สาธยาย…”
ว่าด้วยอานุภาพแห่งการระลึกพระรัตนตรัย – ธชัคคสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เขตพระนครสาวัตถีพระองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูร เมื่อเทวดาเกิดความกลัวขึ้น ท้าวสักกะจึงบอกให้หมู่เทพทั้งหลายมองดูยอดธงหรือชายธงของพระองค์ หรือว่าของเทพชั้นรองลงมาตามลำดับความกลัวก็จะหายไปได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะเทพผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่าเมื่อเวลาเข้าไปอยู่ในป่า เกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทว่า อิติปิโส… ภะคะวาติ. หรือระลึกถึงพระธรรมในบทว่า สวากขาโต…วิญญูหีติ. หรือระลึกถึงพระสงฆ์ในบทว่า สุปะฏิปันโน…โลกัสสาติ.เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวทั้งหลายก็จักไม่มีเลย
อานิสงส์ 6 ข้อ ของการไหว้พระสวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์ ตามที่ท่านพระพุทธทาสได้กล่าวไว้
สรุปคร่าวๆ ดังนี้
- การทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นคือ การไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น. ถ้าคนไหว้พระสวดมนต์จริง ทำถูกต้องจริงด้วยจิตใจ จะมีจิตใจเข้าถึงพระพุทธเจ้า ในลักษณะทีเป็นธรรมกาย ได้ทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น
- เป็นการทำสมาธิหมู่ หรือถ้าทำคนเดียวก็เป็นสมาธิเดี่ยว โดยการกำหนดที่เสียง หรือกำหนดที่ความหมาย กำหนดทุกอักขระทุกพยัญชนะ
- เป็นการศึกษาธรรมะ เพราะเรารู้ความหมาย
- เป็นการเตือนตัวเองโดยทางธรรม
- เป็นการท่องจำ เมื่อเราจำได้ เราก็นำหลักธรรมะนั้นสอนตัวเอง หรือไปสอนผู้อื่นได้
- เป็นการบริหารสุขภาพ โดยเฉพาะสมอง เพราะว่าเราใช้สติสัมปชัญญะ
เปิดอ่านหนังสือ สวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์ คลิ๊กที่นี่
หรือสามารถหาหนังได้ ที่ห้องสมุดธรรมะของสวนโมกข์
ส่วนใครที่สนใจฟังบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าของสวนโมกข์ ขอแนะนำวิดีโอข้างล่างนี้
เทคนิคการฝึกสมาธิ ด้วยการสวดมนต์
เมื่อพูดถึงการสวดมนต์ คือ การฝึกสมาธิแล้ว ผู้เขียนมีเทคนิคเฉพาะตัวเวลาที่จิตฟุ้งซ่านมากๆ คือ “การท่องเป็นคำๆ” วิธีการคือ การอ่านทีละคำ ยกตัวอย่างเช่น
ชาติปิ ทุกขา, เวลาสวดมนต์ จะกำหนดเป็นทีละคำ โดยเวลาอ่านจะเพ่งแยกเป็นคำๆ เช่น ชา ติ ปิ ทุก ขา
ชาติปิ ทุกขา, (ชา ติ ปิ ทุก ขา)
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์; (แม้ ความ เกิด ก็ เป็น ทุกข์)
ชะราปิ ทุกขา, (ชะ รา ปิ ทุก ขา)
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ ; (แม้ ความ แก่ ก็ เป็น ทุกข์)
มะระณัมปิ ทุกขัง, (มะ ระ ณัม ปิ ทุก ขัง)
แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ; (แม้ ความ ตาย ก็ เป็น ทุกข์)
วิธีนี้ใช้ได้กับการสวดมนต์ช้าๆ และสิ่งที่ได้คือ สมาธิที่แน่วแน่ ดิ่งลึก แต่สิ่งที่ขาดหายไปนั้นคือ ความเข้าใจในความหมายของคำแปล นั่นเพราะการเพ่ง หากเราลองถอยออกมาสักหน่อย เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือทั่วไป ก็จะเข้าใจความหมายนั้นได้ ซึ่งวิธีการนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการฟังได้เหมือนกัน คือ การเข้าไปจับคำในเสียงนั้นๆ
การสวดมนต์ถือว่าเป็นการภาวนาได้ ภาวนา แปลว่า ทำให้เกิด การสวดมนต์ก็ทำให้เกิดความรื่นเริงเพลิดเพลิน หรือทำให้เกิดความสงบภายในจิตใจได้ขณะสวดมนต์อยู่บางทีอุบายเกิด บางทีธรรมะเกิดขึ้นมาขณะสวดมนต์ก็ได้ ให้มีความตั้งอกตั้งใจเคารพในการสวดมนต์ มีความแน่วแน่ในคำสวดของเรา นั้นเป็นการภาวนาอย่างสมบูรณ์ทีเดียว
– หลวงปู่แบน ธนากโร –