นารทพรหมชาดก : พรหมผู้วางเฉยต่อสุขและทุกข์

นารทพรหมชาดก : พรหมผู้วางเฉยต่อสุขและทุกข์

บำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุด : อุเบกขาบารมี

เรื่องย่อ นารทพรหมชาดก

พระเจ้าอังคติราช แห่งแคว้นวิเทหรัฐ เดิมเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม แต่กลับถูกยุยงโดยอำมาตย์ผู้หลงผิด ให้ไปฟังคำสอนจากนักบวชชีเปลือยชื่อ คุณชีวก ผู้สอนว่า บุญบาปไม่มีจริง โลกหน้าก็ไม่มี ทำให้พระองค์หลงเชื่อและละทิ้งหลักธรรม

แต่ พระราชธิดารุจาราชกุมารี ซึ่งมีบุญบารมีจากสมาธิภาวนา สามารถระลึกชาติได้ถึง 14 ชาติ ทรงพยายามชี้ให้พระบิดาเห็นว่า บุญบาปมีจริง ทุกสิ่งที่กระทำย่อมส่งผล แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจพระราชบิดาได้

พระนางจึงตั้งจิตอธิษฐานให้มีนักบวชผู้ทรงธรรมมาช่วยโปรดพระบิดา จนกระทั่ง มหาพรหมนารทะ เสด็จลงมายังโลก ทรงแสดงธรรมด้วยปัญญาอันล้ำลึก ทำให้พระเจ้าอังคติราชตระหนักถึงความผิดพลาด กลับใจสู่สัมมาทิฐิ และปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรมดังเดิม

เกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับ นารทพรหมชาดก

ชื่อและความหมาย

นารทะ แปลว่า “ผู้ให้ความรู้แก่มนุษย์”

ในทางพุทธศาสนา นารทพรหม เป็นชื่อของมหาพรหมผู้บำเพ็ญอุเบกขาบารมีอย่างยิ่งยวด ในขณะที่ในศาสนาฮินดู นารทฤๅษี เป็นนักปราชญ์และนักดนตรีที่เป็นผู้นำสารของเหล่าทวยเทพ

ชั้นของพรหม

ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น มหาพรหม ซึ่งเป็นภพที่สูงกว่ามนุษย์และเทพเจ้า พรหมละความยินดีในกามคุณได้ ต่างจากเทวดาที่ยังเสวยกามสุข มีรูปกายที่ละเอียดกว่า บางชั้นถึงขั้นไม่มีรูปเลย

แม้พรหมจะอยู่สูงกว่า แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าการเกิดเป็นมนุษย์มีค่ามาก เพราะมีโอกาสบำเพ็ญธรรมเพื่อบรรลุนิพพานได้ดีกว่า เนื่องจากมีทั้งสุขและทุกข์เป็นเครื่องเตือนสติ

พรหมโลก

อุเบกขา

คือ วางเฉยอย่างมีปัญญา ไม่ใช่การเมินเฉยแบบไม่สนใจ แต่คือการ เข้าใจทุกสิ่งตามความเป็นจริง แล้ว ไม่ปล่อยให้จิตใจหวั่นไหวไปกับสุขหรือทุกข์

เปรียบเหมือน

  • แผ่นดิน ไม่ว่าใครจะราดด้วยน้ำสะอาดหรือสิ่งสกปรก แผ่นดินไม่เคยรังเกียจหรือยินดีกับสิ่งที่มากระทบ
  • กระจกใส สะท้อนทุกสิ่งตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นภาพที่สวยงามหรือน่าเกลียด โดยไม่ยึดติดกับภาพใดๆ
  • ต้นไม้ใหญ่ แม้พายุจะพัดกระหน่ำเพียงใด ก็ยังยืนหยัดอย่างมั่นคง ไม่โอนเอนไปตามแรงลม เฉกเช่นจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของอารมณ์ที่มากระทบ


อุเบกขา

เรื่องชวนคิด

ทำไมการลงมาสอนของนารทพรหม จึงเป็นอุเบกขาบารมี

ในบรรดาชาดกทั้งหลาย เรื่องนารทพรหมชาดกดูเหมือนจะพิเศษกว่าเรื่องอื่น เพราะพระโพธิสัตว์แทบไม่ต้องผจญกับความยากลำบากหรือต้องเสียสละอะไรมากมาย เพียงแค่ลงมาสั่งสอนพระเจ้าอังคติราชเท่านั้น แต่กลับถือว่าเป็นการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีที่ยิ่งใหญ่

ความพิเศษนี้เริ่มต้นจากการที่พระโพธิสัตว์อยู่ในภพภูมิที่สูงส่งถึงขั้นมหาพรหม ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการบำเพ็ญเพียรอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเจริญฌานขั้นสูง การจะไปเกิดเป็นมหาพรหมได้นั้น จำเป็นต้องมีจิตที่ประณีต ละเอียดอ่อน และมีอุเบกขาที่สมบูรณ์

แม้การลงมาสอนธรรมจะดูเรียบง่าย แต่กลับแฝงไว้ด้วยความลึกซึ้ง นารทพรหมรู้จักรอคอยจังหวะที่เหมาะสม ปล่อยให้พระนางรุจาได้พยายามสอนพระราชบิดาก่อน ไม่รีบร้อนแทรกแซง ทั้งที่เห็นความผิดพลาดของพระเจ้าอังคติราชมาตลอด นี่คือการวางอุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญา รู้ว่าเมื่อใดควรนิ่ง เมื่อใดควรกระทำ

นารทพรหม “ทำเพียงเล็กน้อย” แต่กลับเป็น “การกระทำที่ทรงพลังที่สุด”

– keep calm & unattached –
รักษาจิตใจให้เป็นกลาง ไม่ยึดติดกับสิ่งใด รักษาความสงบและไม่ให้สิ่งภายนอกควบคุมใจ

นารทพรหมชาดก
นารทพรหมชาดก

ข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม

เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก  มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก นารทชาดก