บทกรวดน้ำ # สัพพปัตติทานคาถา

บทกรวดน้ำ # สัพพปัตติทานคาถา

Time reading :: 4 minutes

บทกรวดน้ำที่อุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดา เจ้ากรรมนายเวร รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในภูมิทั้งสาม

การกรวดน้ำ คือ การหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย การกรวดน้ำนั้นเข้าใจว่าสืบเนื่องมาจากการหลั่งน้ำทักษิโณทก

คำว่า “ทักษิโณทก” คือ น้ำสำหรับกรวด น้ำที่หลั่งในเวลาทำทานเพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้ตาย นํ้าที่หลั่งการบำเพ็ญพระราชกุศล และการหลั่งน้ำในโอกาสสำคัญ เช่น ในคราวที่นเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ

การหลั่งน้ำทักษิโณทก มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงพระราชทานเวฬุวันมหาวิหารให้แก่พระพุทธเจ้า ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์ อันเป็นการสำเร็จในการถวายพระอาราม หรือทรงหลั่งน้ำอุทิศแก่เปรต ซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์ในอดีตชาติ

ปัจจุบัน เรายกเอาการหลั่งน้ำหรือกรวดน้ำนี้ไปใช้ในการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับและสรรพสัตว์ซึ่งไม่มีตัวผู้รับ ดังนั้นการหลั่งน้ำ จึงไม่ได้หลั่งลงบนมือของผู้ใด แต่หากมีภาชนะรองรับหรืออาจจะหลั่งลงผืนดินเลย

บทกรวดน้ำ สัพพปัตติทานคาถา เป็นพระราชนิพน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๔ สมัยที่ทรงผนวช โดยผู้เขียนคัดลอกมาจากหนังสือ คู่มืออุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรเช้า-เย็น บทสวดมนต์พิเศษและศาสนพิธี แปลไทย

ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม

เตสัญจะ ภาคิโน โหนตุ สัตตานันตาปปะมาณะกา

สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ จงมีส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และแห่งบุญอื่นที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว

เย ปิยา คุณะวันตา จะ มัยหัง มาตาปิตาทะโย

ทิฏฐา เม จาปยะทิฏฐา วา อัญเญ มัชฌัตตะเวริโน

คือจะเป็นสัตว์เหล่าใด ซึ่งเป็นที่รักใคร่และมีบุญคุณ เช่น มารดาบิดาของข้าพเจ้าเป็นต้น ก็ดี ที่ข้าพเจ้าเห็นแล้ว หรือไม่ได้เห็นก็ดี สัตว์เหล่าอื่นที่เป็นกลางๆ หรือเป็นคู่เวรกันก็ตาม

สัตตา ติฏฐันติ โลกัสมิง เต ภุมมา จะตุโยนิกา

ปัญเจกะจะตุโวการา สังสะรันตา ภะวาภะเว

สัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ในโลก อยู่ในภูมิทั้งสาม อยู่ในกำเนิดทั้งสี่ มีขันธ์ห้าขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว มีขันธ์สี่ขันธ์กำลังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ก็ดี

ญาตัง เย ปัตติทานัมเม อะนุโมทันตุ เต สะยัง

เย จิมัง นัปปะชานันติ เทวา เตสัง นิเวทะยุง

สัตว์เหล่าใด รู้ส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้ว สัตว์เหล่านั้น จงอนุโมทนาบุญเองเถิด ส่วนสัตว์เหล่าใด ยังไม่รู้ส่วนบุญนี้ ขอเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้น ให้รู้

มะยา ทินนานะ ปุญญานัง อนุโมทะนะเหตุนา

สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน

เขมัปปะทัญจะ ปัปโปนตุ เตสาสา สิชฌะตัง สุภา

เพราะเหตุที่ได้อนุโมทนาส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้วสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขทุกเมื่อจงถึงบทอันเกษม กล่าวคือพระนิพพาน ความปรารถนาที่ดีงามของสัตว์เหล่านั้น จงสำเร็จเถิด

วัดร่องขุ่น

สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ จงมีส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และแห่งบุญอื่นที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว

มักมีคำถามว่า ถ้าเราอุทิศบุญให้ใครสักคนจนหมด บุญเราจะหมดหรือไม่ บุญเป็นสิ่งที่แปลก ยิ่งให้ก็ยิ่งได้เพิ่ม เราให้คนอื่นหมดก็เหมือนเราทำบุญที่เราให้คนอื่นอีกต่อหนึ่ง บุญจึงไม่มีวันหมด

เรามักได้ยินคำสุภาษิตว่า “กินบุญเก่า” ซึ่งหมายถึงคนที่สุขสบายเพราะความดีหรือบุญที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ ในสมัยพุทธกาล นางวิสาขา เองก็ตำหนิพ่อสามีว่า “บริโภคของเก่า” จนถึงกับถูกขับไล่ แต่นางวิสาขาได้อธิบายให้แก่ท่านมิคารเศรษฐี บิดาของสามีว่า ท่านกำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ

กฐิน

คือจะเป็น สัตว์ เหล่าใด ซึ่งเป็นที่รักใคร่และมีบุญคุณ เช่น มารดาบิดาของข้าพเจ้าเป็นต้น ก็ดี ที่ข้าพเจ้าเห็นแล้ว หรือไม่ได้เห็นก็ดี สัตว์เหล่าอื่นที่เป็นกลางๆ หรือเป็นคู่เวรกันก็ตาม

ในทางพุทธศาสนา “สัตว์” หมายถึง บุคคลผู้ข้องติดอยู่ในความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน คือ ผู้ที่ยังอยู่ในวัฏสงสาร ไม่ว่าจะเทวดา พรหม หรือสัตว์ชั้นต่ำอย่างสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่พวกที่เกิดในอบายภูมิ

แม้แต่ “โพธิสัตว์” ก็มาจาก โพธิ กับ สัตตะ  ภาษาบาลี คำว่าสัตว์นี่ท่านหมายถึงคนก่อนเลย พอพูดถึงสัตว์นี่ต้องนึกถึงคนก่อน เช่น มหาสัตว์ ก็คือ มหาบุรุษ พระโพธิสัตว์ ก็คือ สัตว์ ผู้มุ่งตรัสรู้

เต่า

สัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ในโลก อยู่ใน ภูมิทั้งสาม อยู่ใน กำเนิดทั้งสี่

ภูมิทั้งสาม ได้แก่

1. กามาวจรภูมิ คือ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามภพหรือภูมิของจิตที่ติดอยู่ในกาม

2. รูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพหรือภูมิของจิตที่ติดอยู่ในรูปฌาน

3. อรูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภพหรือภูมิของจิตที่ติดอยู่ในอรูปฌาน

กำเนิดทั้งสี่ ได้แก่

1. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในมดลูก คือ มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานที่คลอดออกมาเป็นตัวและเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ แมว เป็นต้น

2. อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉานที่ออกมาเป็นไข่ แล้วจึงฟักไข่ออกมาเป็นตัว เช่น เป็ด นก ปลา เป็นต้น

3. สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดโดยไม่อาศัยท้องพ่อแม่ แต่อาศัยเกิดจากต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ หรือของโสโครก หรือที่ชุ่มชื้น เช่น เชื้อโรคและสัตว์เซลล์เดียว มีอะมีบาพลามิเซียม เป็นต้น

4. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นมา ได้แก่ สัตว์โลกที่เกิดมาโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่แต่อาศัยกรรมอย่างเดียว และเมื่อเกิดก็เติบโตขึ้นทันทีทันใด เวลาตายก็ไม่ต้องทิ้งร่างเอาไว้ เช่น พวกสัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม มนุษย์โลกสมัยต้นกัป เป็นต้น พวกนี้ ล่องลอยได้คล่องไม่ต้องอาศัยยานพาหนะ เป็นไปด้วยอาจของกรรมของเขา

แมวน้อย

มีขันธ์ ห้าขันธ์ มีขันธ์ ขันธ์เดียว มีขันธ์ สี่ขันธ์ กำลังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ก็ดี

สัตว์ที่มีห้าขันธ์ ได้แก่ สัตว์ในกามภพ เช่น มนุษย์ สัตว์ เทวดา จะมีกายกับจิต หรือมีขันธ์ ๕ ครบ กายคือ รูปขันธ์ จิต คือ นามขันธ์ ๔ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สัตว์ที่มีหนึ่งขันธ์ คือ ผู้ที่เกิดมามีขันธ์เดียว ได้แก่ อสัญญีพรหม หรือที่เรียกว่า พรหมลูกฟัก เพราะเกิดมามีแต่รูปขันธ์อย่างเดียวไม่มีจิตมาเกิดด้วย สัตว์ที่มีสี่ขันธ์ คือ อรูปพรหมทั้งหลาย เนื่องจากพรหมเหล่านี้เกิดมาไม่มีรูป มาเกิดมีแต่จิตมาเกิด คือ มีนามขันธ์ ๔ เท่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เทวดา

สัตว์เหล่าใด รู้ส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้ว สัตว์เหล่านั้น จง อนุโมทนา บุญเองเถิด ส่วนสัตว์เหล่าใด ยังไม่รู้ส่วนบุญนี้ ขอเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้น ให้รู้

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวว่า “การได้รับส่วนกุศลนี่ ถ้าหากท่านมีโอกาสอนุโมทนา ท่านก็ได้รับ ถ้าท่านไม่มีโอกาสอนุโมทนา ก็ไม่ได้รับ เหมือนเราเอาสิ่งของไปให้ แต่ผู้รับเขาไม่รับ เขาจะได้ไหม … ถ้าพวกเขาอยู่ในนรก ไฟไหม้ทั้งวัน ถูกสรรพาวุธสับฟันทั้งวัน ถ้าเราเอาขนมไปให้กิน เขากินได้ไหม”

ถ้าใครเป็นคนเหนือและเคยไป “ตานขันข้าว” คือ การอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ อาจจะได้ยินประโยคหนึ่งที่พระท่านจะกล่าวว่า ขอเทพเทวดาหรือผู้มีฤทธิ์ช่วยบอกกล่าวให้กับเหล่าวิญญาณทั้งหลายให้รู้ เพราะบางทีสัตว์เหล่านั้นอาจจะยังไม่รู้ถึงส่วนบุญ หรือไม่สามารถรับส่วนบุญนี้ได้

เพราะเหตุที่ได้อนุโมทนาส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้วสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มี เวร อยู่เป็นสุขทุกเมื่อจงถึงบทอันเกษม กล่าวคือพระนิพพาน ความปรารถนาที่ดีงามของสัตว์เหล่านั้น จงสำเร็จเถิด

ผู้เขียนขอหยิบยกบทความบางตอนในหนังสือ “ความเข้าใจเรื่องกรรม” โดย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกล่าวไว้ว่า

กรรม” คือกิจที่บุคคลจงใจทำหรือทำด้วยเจตนา ถ้าทำด้วยไม่มีเจตนาไม่เรียกว่ากรรม อย่างเช่น ไม่มีเจตนาเหยียบมดตาย ไม่เป็นกรรมคือปาณาติบาต ต่อเมื่อเจตนาจะเหยียบให้ตาย จึงเป็นกรรมคือปาณาติบาต แต่เมื่อจัดอย่างละเอียด สิ่งที่ทำด้วยไม่มีเจตนา ท่านจัดเป็นกรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่ากรรมสักว่าทำ เพราะอาจให้โทษได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่กฎหมายถือว่าผิดในฐานะประมาท

“เวร” คือความเป็นศัตรูกันของบุคคล ๒ คน คือ ๒ ฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้นตอบแทน ลำพังบุคคลที่ ๑ ฝ่ายเดียว ก็ยังไม่เป็นเวรโดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อบุคคลที่ ๒ ผูก ใจเจ็บไว้ จึงเกิดเป็นเวรโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลที่ ๒ นั้นไม่ ผูกใจเจ็บ ก็ไม่เกิดเป็นเวรขึ้นเหมือนกัน

เวรจึงเกี่ยวแก่กรรมของบุคคลนั่นเอง ที่ยังให้ เกิดความเสียหาย เจ็บแค้นแก่คนอื่น เวรทั้ง ๕ ก็คือ เวรภัยจาการล่วงละเมิดศีลห้า

เวรไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหนๆเลย แต่ย่อมระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร

บทกรวดน้ำ

บทกรวดน้ำ พระให้พร

สุดท้ายนี้ขอกล่าวถึงการกรวดน้ำในพิธีทำบุญที่มีพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์กล่าวคำอนุโมทนา “ยถา-สัพพี” นั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดก็ว่าได้และเป็นช่วงเวลาแห่งความตั้งใจ พระท่านเองก็มักจะสะกิดญาติโยมว่า เอ้า ตั้งใจรับพรนะ พอพระที่เป็นประธานเริ่มกล่าวคำอนุโมทนาขึ้นต้นว่า “ยถา..” เราก็เริ่มกรวดน้ำได้เลย พร้อมกับนึกถึงคำอุทิศไปด้วย พอพระผู้เป็นประธานกล่าวจบ พระสงฆ์ทั้งหมดรับ “สัพพี…” ก็วางภาชนะน้ำกรวด แล้วประณมมือรับพร

ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ ฉันใด
ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ ฉันนั้น
ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี

ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปะติ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติระโส ยะถา

ความจัญไรทั้งปวง จงบำราศไป
โรคทั้งปวงของท่าน จงหาย
อันตรายอย่ามีแก่ท่าน
ขอให้ท่านมีความสุข และอายุยืนยาว
ขอให้ท่านเจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ::
หนังสือ “ความเข้าใจเรื่องกรรม” โดย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
การอุทิศส่วนกุศล หลวงพ่อฤาษีลิงดำ https://www.naewna.com/likesara/537624/preview