พระอวโลกิเตศวร : พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์

พระอวโลกิเตศวร : พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์

Time reading : 12 minutes

สำรวจศรัทธาและพุทธศิลป์ของ พระอวโลกิเตศวร 10 ในประเทศ

พระอวโลกิเตศวร (Avalokiteshvara) ภาษาอังกฤษ อ่านว่า อะ-วะ-โล-กิช-ทะ-วา-รา เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายานที่มีคนรู้จักและศรัทธามากที่สุด พระอวโลกิเตศวรเป็นที่รู้จักกันในนามของพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ซึ่งเรามักจะเห็นรูปภาพ รูปปั้นหลากหลายแบบเช่น พระอวโลกิเตศวรที่มีสี่แขน พันแขน หรือภาพวาดสีขาว โดยสีขาวนี้แสดงถึงธรรมอันบริสุทธิ์ซึ่งปราศจากกิเลสตัณหา ชาวจีนจะวาดภาพพระอวโลกิเตศวรเป็นผู้หญิงซึ่งเรารู้จักกันดีคือ พระแม่กวนอิม ในขณะที่ชาวทิเบตจะวาดเป็นผู้ชาย และเรียกว่าพระอวโลกิเตศวร

พระอวโลกิเตศวร ได้แบ่งภาคลงมาจุติยังโลกมนุษย์เมื่อสองพันกว่าปีเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ ตามตำนานของจีน ได้จุติเป็น เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ซึ่งต่อมาได้บรรลุมรรคผล และมีพระนามว่า พระแม่กวนอิม

ผู้เขียนจะพาไปสำรวจศรัทธาและประติมากรรม จิตรกรรมต่างๆ ของพระอวโลกิเตศวรในประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยจะขอเริ่มต้นที่บ้านเราก่อน ที่ “สวนโมกข์กรุงเทพ” ครั้งแรกที่เดินสำรวจ สายตาก็สะดุดไปกับรูปปั้นที่อยู่ตรงกลางลานหินโค้ง โดยรูปปั้นที่อยู่ที่สวนโมกข์กรุงเทพนี้ จำลองมาจากรูปปั้นที่พบที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบรูปปั้นของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้ที่สนามหญ้าตรงหน้าบริเวณกำแพงพระบรมธาตุออกไป ซึ่งนับว่าเป็นประติมากรรมชิ้นเยี่ยมของเมืองไทย และมีความงามอย่างลึกซึ้ง สามารถสะกดจิตใจและอารมณ์ของผู้พบเห็นได้

สวนโมกข์กรุงเทพ
รูปปั้นพระอวโลกิเตศวร สวนโมกข์กรุงเทพ

รูปปั้นที่อยู่ด้านล่างของพระอวโลกิเตศวรเป็นรูปสตรีเพศ และด้านข้างจะมีแผ่นป้ายเขียนอธิบายธรรมะของพระโพธิสัตว์ ว่า

สุทธิ คือจิตบริสุทธิ์ ไม่หลงใหลในกามารมณ์หรือเหยื่อล่อทั้งหลาย

ปัญญา คือรู้ทุกสิ่งที่ควรรู้โดยเฉพาะเพื่อไปสู่ทางดับทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง

เมตตา คือความไม่เห็นแก่ตัว มิตรภาพ เห็นทุกคนทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บ ตาย

ขันติ คืออดทนจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้คือธรรมะของพระโพธิสัตว์ แล้วความรู้สึกเช่นนั้นจะครอบงำจิตใจของเรา … เวลาที่แสงแดดดี หามุมดี ๆ มองดูจะสวยมาก สวยที่สุด – พุทธทาสภิกขุ

พระอวโลกิเตศวร
รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะสมัยศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจาก facebook ThaiPBSพาเที่ยว #พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร #วังหน้า

นอกจากนี้ยังค้นพบ พระอวโลกิเตศวร ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ในรายการ “กระจกหกด้าน” ตอน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้ถ่ายทอดประติมากรรมของพระอวโลกิเตศวรบางส่วน ดังนี้

พระอวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี สำริด พระหัตถ์ขวาทำปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว ประทับนั่งห้อยพระบาทขวา อายุพุทธศตวรรษที 14-15 พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี หมายถึง พระอวโลกิเตศวรผู้ถือดอกบัว
พระอวโลกิเตศวร
พระอวโลกิเตศวรสำริด 11 เศียร 22 กร ปางสมันตมุข อิทธิพลศิลปะขอมแบบเกาะแก สมันตมุข แปลว่า มีพระพักตร์รอบทิศหรือเห็นได้โดยรอบ เพื่อที่จะดูแลและช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั่วทุกทิศ
พระอวโลกิเตศวร
พระอวโลกิเตศวรสำริด 4 กร ศิลปะศรีวิชัย ทรงประทานพร ทรงถืออักษะมาลา (ลูกประคำหรือพวงมาลัยลูกปัด) พระคัมภีร์ และดอกบัว


พุทธศาสนาและพุทธศิลป์ของ “พระอวโลกิเตศวร” ในต่างแดน

1. ทิเบต

เมืองลาซา เคยเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของคนทิเบต ปัจจุบันทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งจีนได้นำเอาความเจริญที่เป็นแบบฉนับของจีนเข้ามาในเมืองลาซา คนทิเบตนั้นนับถือพุทธศาสนามหายาน นิกายวัชรยานหรือตันตรยาน มีวัดโจคัง หรือ วัดต้าเจ้าซื่อ เป็นศูนย์กลาง แม้เมืองจะเปลี่ยนแต่วิถีธรรมของคนทิเบตก็มิได้เปลี่ยนแปลงตาม ผู้คนยังคงสวดมนต์ เดินจงกรม จาริกแสวงบุญ โดยการเดิน 3 ก้าวแล้วกราบอัษฎางคประดิษฐ์ (Prostration) ซึ่งเป็นท่ากราบไหว้ที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุด ผู้คนยังคงภาวนา “โอม มานี แปะ หมี่ ฮง” Om Mani Padme Hung และถือกงล้อมนตรา (Prayer Wheel)

โอม มานี แปะ หมี่ ฮง แปลว่า ดวงแก้วมณีที่อุบัติขึ้นในดอกบัว
This image has an empty alt attribute; its file name is tibet-1717188_1280-600x400.jpg
 การกราบแบบ “อัษฏางคประดิษฐ์” หรือ กราบ 8 จุด โดยส่วนสำคัญของร่างกายแตะพื้น 8 จุด ได้แก่ มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง ลำตัว และหน้าผาก ภาษาทิเบตเรียกว่า ชากเซล (Chag Tsel)
ไกด์ท้องถิ่นคนหนึ่งอธิบายถึงการกราบอัษฏางคประดิษฐ์ว่า การยกมือขึ้นไหว้เหนือศีรษะ เป็นการแสดงว่ากำลังนึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อเลื่อนมือจากศีรษะมาจรดปากแล้ว เป็นการนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเลื่อนมือมาแตะช่วงกลางอกหรือหัวใจ คือการเคารพทางใจจากนั้นจะกราบราบลงบนพื้นเพื่ออธิษฐานถึงพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนมิอาจหยั่งรู้ภายในจิตใจขณะที่พวกเขากำลังกราบไหว้ได้ แต่ด้วยแรงศรัทธา ความอดทน และความเพียรพยายามนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าหากพระอวโลกิเตศวรจะมองเห็นพวกเขาเหล่านี้และประทานความเมตตาให้ มีรายการสารคดีเก่าๆ ของจีนได้สัมภาษณ์หญิงชาวทิเบตว่า เหตุใดจึงมีศรัทธาอันแรงกล้าเช่นนี้ เธอตอบว่า การเดินทางมากราบไหว้ จุดประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการล้างบาป สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้คุ้มครองป้องกัน ไม่ให้เกิดภยันอันตราย ครอบครัวจะได้มีความสุข ผู้คนที่มาที่วัดแห่งนี้ ต้องนับด้วยว่ามาแล้วกี่ครั้ง ส่วนหญิงทิเบตอีกคนกล่าวว่า มาที่วัดนี้ทุกวัน และมากราบอย่างน้อยวันละ 200 ครั้ง เพื่อล้างบาป ผู้คนจึงมาล้างบาปในชาติก่อน และชาตินี้ และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้พบกับพระศรีอริยเมตไตรย

ข้างในวัดโจคัง มีพระประธานคือ พระโจโวศากยมุนี สูงประมาณ 3 เมตรและยังมีเทวรูปต่างๆ รวมถึงพระอวโลกิเตศวรพันกร ซึ่งจริงๆ แล้ว ในวัดโจคัง มีงานจิตรกรรมฝาผนังที่ล้ำค่าและควรค่าแก่การเยี่ยมชม ซึ่งมักจะเป็นภาพจริงของประวัติศาสตร์ทิเบต โดยเราจะพบร่องรอยของการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม การแพทย์ของทิเบต และยังมีวิชามากมาย เช่น คำสอนทางพุทธศาสนา นิทาน ชีวิตในท้องถิ่น ทิวทัศน์ธรรมชาติ นอกจากนี้ทิเบตยังมีพุทธศิลป์อันล้ำค่า คือ ภาพวาดทังก้า (Thangka) ซึ่งแตกต่างจากภาพสีน้ำมันและจิตรกรรมฝาผนัง มักวาดบนผ้า ผ้าไหม ผ้า และกระดาษ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ศาสนา การบรรยายชีวิตของพระพุทธเจ้าและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของลามะที่สำคัญ

This image has an empty alt attribute; its file name is image-5-600x338.png
ภาพภายในวัดโจคัง โดยสถานีโทรทัศน์ CCTV+ (ปกติจะห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป) เทวรูปที่เห็นอยู่ด้านขวามือเป็นพระอวโลกิเตศวร ประดับด้วยอัญมณี ที่มา youtube : Jokhang Monastery Attracts Tibetan Pilgrims as Ultimate Destination

“สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมปรารถนาให้ปราศจากความขมขื่นและต้องการได้รับความสุข ดังนั้นเราควรฝึกปฏิบัติให้เกิดความความเมตตาและเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าโลกจะสงบสุขหรือไม่ สังคมจะมั่นคงหรือไม่ ผู้คนจะมีความสุขหรือไม่ ล้วนเกี่ยวข้องกับจิตใจภายใน เราจะมีโลกที่สงบสุข หากทุกคนสามารถปฏิบัติความดีเพื่อเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้”Phuntsog Gyaltsen, khenpo เจ้าอาวาสวัดโจคัง

หากใครที่ชื่นชอบภาพจิตรกรรมฝาหนังของทิเบต มีหนังสือชื่อ Murals of Tibet ตีพิมพ์โดย Taschen แค่ 998 ฉบับในรูปแบบซูโม่ขนาดใหญ่ โดยใช้ระยะเวลาการจัดทำนับสิบปี หนังสือเล่มนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 120 ภาพที่มีอายุ 1,000 ปีจาก 13 แห่งทั่วทิเบต สีสันสดใส ซึ่งช่างภาพได้ใช้วิธีกาารจับภาพเป็นส่วนเล็กๆ จากนั้นก็เอามาเย็บปะติดปะต่อกันอย่างพิถีพิถันด้วยระบบดิจิทัล ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ ลงนามโดยองค์ทะไลลามะองค์ที่ 14

This image has an empty alt attribute; its file name is image-6-600x308.png
หนังสือ Murals of Tibet # ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=i997q3lGkzM

2. เนปาล

ผู้คนในประเทศเนปาลนับถือพุทธศาสนามหายาน ประมาณ 10% โดยมีแหล่งชุมชนของชาวพุทธจากทิเบตที่ลี้ภัยเข้ามาปักหลักอยู่รอบๆ เจดีย์โพธินาถ (Boudhanath) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเมืองกาฐมาณฑุ และได้สร้างวัดมากกว่า 50 วัด เจดีย์โพธินาถจึงเป็นเหมือนสถานที่อัศจรรย์ที่ดึงดูดนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

เจดีย์โพธินาถ เนปาล

เจดีย์โพธินาถ นับว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจดีย์ประกอบด้วยสี่เหลี่ยมและวงกลมสลับกัน เรียกว่า มันดาลาสามมิติ 3-Dimensional Mandala มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์หลายๆ อย่าง รวมถึงตัวเลขต่างๆ เช่น เจดีย์โพธินาถทั้งเก้าชั้นเป็นตัวแทนของภูเขาสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล และวงแหวนทั้ง 13 วงจากฐานถึงยอดเป็นสัญลักษณ์ทางไปสู่การตรัสรู้ หรือ “โพธิ์”

Mandala เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลสำหรับชาวพุทธและชาวฮินดู ส่วนใหญ่มีลวดลายหรือการออกแบบทางเรขาคณิตที่มีสีสันและมีรายละเอียด แมนดาราดั้งเดิมคือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีวงกลม และการออกแบบนั้นต้องมีความสมมาตรและสมดุลเท่ากันทุกด้าน

ด้านบนของเจดีย์มีรูปดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้า (Wisdom Eyes) เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระปัญญาของพระพุทธเจ้า สังเกตว่าตรงจมูกเป็นสัญลักษณ์ประเภทเครื่องหมายคำถามซึ่งแท้จริงแล้วเป็นตัวอักษรเนปาลคือ หมายเลข 1 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีและวิธีหนึ่งในการบรรลุการตรัสรู้ – ผ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า

ดวงตาเห็นธรรม (Wisdom Eyes)

ด้านล่างของพระเจดีย์มีกำแพง 16 ด้านล้อมรอบทั้งองค์ ซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ พระอวโลกิเตศวร 108 ปาง กงล้อสวดมนต์สลักด้วยมนต์อวโลกิเตศวร คือ โอม มณี ปัทเม ฮุม

พระอวโลกิเตศวร
ภาพจิตรกรรมฝาหนัง พระอวโลกิเตศวร 108 ปาง

ถ้าใครเคยสวดบทสวดมหากรุณาธารณีสูตร จะรู้ว่ามีทั้งหมด 84 คาถา และแต่ละคาถาจะหมายถึง 1 ปาง รวมทั้งหมดมี 84 ปาง ในขณะที่ภาพวาดในเนปาล มี ทั้งหมด 108 ปาง ยกตัวอย่าง ปาง Hayagriva Lokesvara คือปางประทับนั่งบนดอกบัว มีสี่พระหัตถ์ ซึ่งพระหัตถ์คู่แรกนั้นแสดงท่า Vyakhyana mudra คือ ปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้จะประกบกัน ส่วนมือคู่ที่สองถือสายประคำในมือขวาและดอกบัวทางซ้าย พร้อมกับเทพเจ้าอีกหกองค์และมังกร

เราอาจจะพูดได้ว่า พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่มีเสน่ห์ดึงดูดที่สุดในจินตภาพทางพุทธศาสนาในเอเชีย มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่พระโพธิสัตว์องค์ธรรมดาที่ถือดอกบัว ไปจนถึงเทพผู้ทรงอาภรณ์ที่ซับซ้อน และแม้แต่พระโพธิสัตว์ที่อุ้มเด็ก

คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหา 

Gate gate paragate parasamgate bodhi svaha.

ไป ไป ไปยังฟากฝั่งโน้น ไปให้พ้นอย่างสิ้นเชิง ลุถึง การรู้แจ้ง ความเบิกบาน


3. อินโดนีเซีย

จาก เจดีย์โพธินาถ (Boudhanath) ประเทศเนปาล เราไปต่อกันที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นประเทศที่มีศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ บุโรพุทโธ (Borobudur) ซึ่งแผนผังโดยรวมของวัดก็คือแผนผังของจักรวาลสามมิติ 3D Mandala ถ้ามองบุโรพุทโธจากมุมสูงจะมีลักษณะเป็นรูปพีระมิดขั้นบันได

โดยตามแผนผังแล้วจะมี 3 ชั้น คือ ส่วนฐานของเจดีย์ คือ ส่วน กามธาตุ คือ ชั้นของโลกมนุษย์ที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ส่วนที่ 2 คือ รูปธาตุ เป็นขั้นที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสมาได้บางส่วน และส่วนที่ 3 คือ อรูปธาตุ เป็นขั้นหลุดพ้น เป็นส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ 72 องค์ ล้อมรอบสถูปองค์ใหญ่ที่สุด ทั่วทั้งบริเวณมีพระพุทธรูป 504 องค์ ภาพนูนหินนูนบนผนัง 1,460

บุโรพุทโธ (Borobudur)

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบุโรพุทโธ เป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก เสียดายที่ศาสนสถานแห่งนี้ มิได้อยู่ในพื้นที่ที่คนนับถือพุทธศาสนา เพราะคนในพื้นที่และในประเทศอินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก

ภาพบุโรพุทโธ (Borobudur) จากด้านบนของเจดีย์

ห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตรจากบุโรพุทโธ มีวัดพุทธชื่อ Mendut ภายในวัดมีรูปปั้นหินแกะสลักขนาดใหญ่สามรูป คือ พระธยานีพุทธไวโรจนะสูง 3 เมตร อยู่ตรงกลาง โดยมีความหมายเพื่อปลดปล่อยจากกรรมทางกาย ด้านซ้ายเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่จะปลดปล่อยจากกรรมแห่งวาจา ด้านขวาคือพระโพธิสัตว์วัชรปานีเพื่อปลดปล่อยจากกรรมแห่งความคิด

รูปแกะสลักตรงกลาง-พระธยานีพุทธไวโรจนะ ด้านซ้ายมือ- พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านขวา-พระโพธิสัตว์วัชรปานี
ความเชื่อชองพุทธศาสนามหายานนั้น เชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมหาศาล องค์พระผู้กำเนิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวลนั้น คือ พระอาทิพุทธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่ไร้รูป และได้ให้กำเนิดพระธยานิพุทธะต่างๆ อยู่ 5 พระองค์ โดยพระธานิพุทธะเป็นกายทิพย์ หรือที่เรียกว่า สัมโภคกาย เป็นกายละเอียดมากซึ่งจะปรากฏให้เห็นในหมู่พระโพธิสัตว์

พระธยานิพุทธะ มี 5 พระองค์ ซึ่งประจำอยู่ในทิศต่างๆ และแต่ละทิศจะแสดงมุทรา (Mundra) คือ สัญลักษณ์มือ ที่แตกต่างกัน
1. พระอโมฆสิทธิพุทธะ  – ผู้มีความสำเร็จอันสมบูรณ์ ประทับทางทิศเหนือ แสดงลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย
2. พระอักโษภยพุทธะ – ผู้ไม่หวั่นไหว ประทับทางทิศตะวันออก แสดงลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
3. พระรัตนสัมภวพุทธ – พระผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งสิ่งมีค่าทั้งมวล ประทับทางทิศใต้ แสดงลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร
4. พระอมิตาภพุทธะ – ประทับในแดนสุขาวดี ประจำอยู่ทางทิศตะวันตก แสดงลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
5. พระไวโรจนพุทธะ – ผู้มีปัญญาอันสูงสุด ประจำอยู่ตรงกลาง แสดงลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา

นอกจากนี้คติพุทธศาสนามหายาน พระอวโลกิเตศวร คือ ผู้รักษาพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระพุทธรูปปางสมาธิประดับบนด้านบน


3. กัมพูชา

สิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนามหายานในกัมพูชา ที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ปราสาทบายน ที่มีใบหน้าขนาดยักษ์ 216 หน้า สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เห็นพระพักตร์และรอยยิ้มแห่งบายนนี้ ณ สถานที่จริง เป็นสถานที่ที่มีมิติอย่างเหลือเชื่อ จากคู่มือท่องเที่ยวบอกว่า ใบหน้านี้เป็นของ “พระอวโลกิเตศวร” แต่เมื่อได้เห็นรูปปั้นของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เทียบเคียงกับพระใบหน้าในปราสาทบายนแล้ว ผู้เขียนโน้มเอียงไปในทางที่ว่าใบหน้านี้ เป็น ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยนักวิชาการหลายท่านก็กล่าวว่า คติความเชื่อเดิมคือ กษัตริย์ เปรียบได้ดังเทพ

พระอวโลกิเตศวร
ปราสาทบายน รูปใบหน้าของพระอวโลกิเตศวร
This image has an empty alt attribute; its file name is JayavarmanVII-440x600.jpg
รูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา เป็นที่ตั้งของศิลปะเขมรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งงานประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผาเขมร เครื่องทองสัมฤทธิ์ ซึ่งมีมากกว่า 14,000 ชิ้น ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปปั้นของพระอวโลกิเศวร โดยจะเรียกว่า “โลเกศวร” Lokesvara

This image has an empty alt attribute; its file name is 640px-National_Museum_of_Cambodia_courtyard-600x395.jpg
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา ภาพจาก Youtube : National Museum of Cambodia

นอกจากนครธม ปราสาทบายนแล้ว ยังมี ปราสาท บันทายฉมาร์ ที่มีรูปพระพักตร์คล้ายๆ กับประสาทบายน รวมถึงรูปแกะสลักพระอวโลกิเตศวรแสดงพุทธานุภาพ

พระอวโลกิเตศวร
พระอวโลกิเตศวรแสดงพลานุภาพ ภาพจาก : emilio gomez

5. เวียดนาม

คนเวียดนามประมาณร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธมหายาน ผู้เขียนเคยไปทำงานอยู่ที่โฮจิมินห์ในช่วงเวลาสั้นๆ สังเกตเห็นรถตู้ที่บริษัทจัดให้รับส่งนั้น ทุกคันจะมีสร้อยพระแม่กวนอิมห้อยอยู่ตรงกระจกหน้ารถ คล้ายๆ กับบ้านเราที่มีพระเครื่องต่างๆ อยู่ในรถ วัดในเวียดนามมีไม่เยอะเท่าบ้านเรา และสถาปัตยกรรมก็คล้ายๆ กับวัดจีน คนเวียดนามเรียกพระแม่กวนอิม ว่า Quan Am และสวดมนต์ขอพรกับพระแม่กวนอิมในทุกช่วงเวลาของชีวิตก็ว่าได้

มีคนแนะนำให้ผู้เขียนหาพระแม่กวนอิมพันมือมาบูชา เป็นอย่างที่เค้าว่า ยามเราต้องการอะไรสักอย่างต่อให้เราแสวงหาเท่าไร่ก็มักจะพลาดเสมอ ผู้เขียนบังเอิญเจอภาพหนึ่ง สืบไปมาจึงรู้ว่า เป็น พระแม่กวนอิมในวัดบุ๊ตต้าบ But Thap โดยวัดนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 มีรูปปั้นโบราณล้ำค่ามากมาย ซึ่งถือเป็นงานแกะสลักไม้สมัยศตวรรษที่ 17 เป็นที่ตั้งของรูปปั้นพระอวโลกิเตศวรพันเนตร พันกร (Thien Thu Thien) ที่เป็นศิลปะชิ้นเอกของเวียดนาม มี 11 เศียร 46 แขนใหญ่ และ 954 แขนเล็ก องค์พระสูง 3.7 เมตร กว้าง 2.1 เมตร วางบนแท่นดอกบัว

พระอวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แกะสลักด้วยไม้ วัดบุ๊ตต้าบ ภาพจาก wikipedia

ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮานอย มีรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรจำลองมาจากวัด But Thap ซึ่งแกะสลักจากไม้ เป็นรูปที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด เนื่องจากพระพักตร์สื่อได้อย่างชัดเจนถึงปณิธานอันแรงกล้า เปี่ยมด้วยพลัง แฝงด้วยความสงบ นิ่ง ไม่หวาดหวั่น หวั่นไหว

พระอวโลกิเตศวร
พระอวโลกิเตศวรจำลองมาจากวัด But Thap ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮานอย ภาพจาก wikimedia commons
มหาปณิธาน 4 ประกอบด้วย 
1. เราจะละกิเลสให้หมด
2.เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
3. เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
4. เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด

6. ไต้หวัน

ที่วัด Yuan dao ในภาคเหนือของไต้หวัน ได้จัดสร้าง “ประติมากรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ในปี 2019 กลายเป็น land mark ใหม่ของไต้หวัน คือ เทวรูปของพระอวโลกิเตศวรที่ทำจากสแตนเลส และเคลือบด้วยไททาเนียม สูง 30.3 เมตร กว้าง 35.9 เมตร นั่งบน “กงล้อธรรมพันมือ” ความสูงรวม 56 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายในการก่อสร้างอย่างมาก เพราะต้องคำนวนการต้านทานจากแรงลมด้วย และเป็นที่รู้กันว่าไต้หวันนั้นตั้งอยู่ในโซนแผ่นดินไหว

วิดีโองานก่อนสร้าง เทวรูปของพระอวโลกิเตศวรที่ทำจากสแตนเลส

ใช้เวลาในการเตรียมงานกว่า 20 ปี และเริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี 2556 ใช้เสาเข็มขนาดใหญ่ 142 เสา เจาะลงไปลึกถึง 60 เมตรในพื้นหินแข็ง เพื่อที่จะรองรับส่วนของอาคารได้อย่างมั่นคง และโครงสร้างของเหล็กออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นไหวได้ถึง 7 แมกนิจูด สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) นับว่าเป็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก

พระอวโลกิเตศวร
พระอวโลกิเตศวร วัด Yuan dao จากมุมสูง

ที่ไต้หวัน มีวัดหลงซาน หรือ วัดเขามังกร ที่เป็นที่นักท่องเที่ยวนิยมไป และไต้หวันนิยมมาสวดมนต์ และทำบุญกันที่วัดนี้ ประเทศไต้หวันมีวัดนับพันแห่ง รถยนต์เองก็ยังมีรูปเคารพต่างๆ คนไต้หวันที่มีความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลาย ซึ่งบางคนอาจจะทั้งนับถือพุทธ เต๋า ดังนั้นรูปเคารพของพระแม่กวนอิมบางวัด จะมีความคล้ายกับเทพเจ้าเต๋า

พระอวโลกิเตศวร
พระแม่กวนอิม วัดหลงซาน
This image has an empty alt attribute; its file name is 12773122714_bc88b9f806_c-600x400.jpg
พระอวโลกิเตศวรพันมือ วัดกวนตู้ Guandu ไต้หวัน
ดูก่อนกุลบุตร อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ นี้มีฤทธานุภาพเป็นอจินไตยเหนือการคาดคะเน ในอดีตกาลล่วงมาหาประมาณกัลป์มิได้ ได้กระทําซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า สัทธรรมวิทยาตถาคต มาแล้วด้วยกําลังแห่งมหากรุณาปณิธาน ทรงปรารถนาบันดาลให้เกิดมีโพธิสัตว์ทั้งปวง เพื่อยังความผาสุกและเพาะบ่มสรรพสัตว์ (แต่กลับให้กำเนิดพระมหาโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียวคือ พระอวโลกิเตศวร)

  • พระอวโลกิเตศวร เป็นสัมโภคกาย เกิดจากฌานของพระพุทธเจ้า นาม พระสัทธรรมวิทยาตถาคต  พระอวโลกิเตศวรจึงเป็นธยานิโพธิสัตว์ของธยานิพุทธเจ้า

  • พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม นิรมาณกายหรือกายเนื้อที่เป็นมนุษย์ ได้บำเพ็ญเพียรและสำเร็จธรรมในขั้น พุทธะ แต่ด้วยพระปณิธาน จึงหวนกลับสู่แดนโพธิสัตว์

  • 7. ญี่ปุ่น

    คนญี่ปุ่นเรียกพระแม่กวนอิมว่า Kannon หมายถึงเทพเจ้าที่สวมชุดคลุมสีขาว โดยออกเสียงว่า แคนนอน , กันน็อน หรือ กันเซิน อย่างบริษัทญี่ปุ่นหรือกล้องญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีคือ Canon นี้ ที่มาของชื่อนี้ก็ทับศัพท์คำว่า Kannon ตามชื่อพระอวโลกิเตศวร พระแม่กวนอิม ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาพุทธศิลป์ของ “พระอวโลกิเตศวร” ได้อย่างน่าสนใจ เช่น ปางพระแม่กวนอิมที่อุ้มทารก แท้จริงแล้วเกิดจากการที่คนญี่ปุ่นแต่ก่อนขับไล่ชาวคริสต์อย่างหนัก คริสเตียนที่ถูกกดขี่จึงใช้ภาพพระแม่กวนอิมเพื่อเป็นตัวแทนหรืออำพรางพระแม่มารี

    หรือสมัยปัจจุบันที่พัฒนาถึงขั้น ใช้ AI หุ่นยนต์จำลองตามพระโพธิสัตว์กวนอิม และออกแบบมาเพื่ออธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย อยู่ที่วัดโคไดจิ ด้วยหวังว่าจะให้คนสนใจพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

    This image has an empty alt attribute; its file name is image-9-600x336.png
    เปิดตัวหุ่นยนต์ที่วัดโคไดจิ วัดพุทธอายุ 400 ปี ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

    หรือแม้กระทั่งการสวมหน้ากากอนามัยให้แก่ พระโพธิสัตว์กวนอิมปางอุ้มเด็ก โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นการอธิษฐาน และภาวนาให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นให้ยุติลง 

    This image has an empty alt attribute; its file name is image-10.png
    พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ วัด โฮโคะคุจิ ไอสึ เบตสึอิน ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

    ผู้เขียนเคยไปเที่ยววัดในเกียวโต แต่แปลกที่ไม่มีข้อมูลของวัดซันจูซันเก็นโด Sanjūsangen-dō ทำให้พลาดชมสถานที่แห่งนี้ ชื่อซันจุซังเกนโด แปลว่า ตัวอักษร “33 ช่วง” มาจากจำนวนช่วงระหว่างเสาค้ำของอาคาร ห้องโถงวัดเป็นโครงสร้างไม้ที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่นยาว 120 เมตร ตรงกลางห้องโถงใหญ่มีรูปปั้นไม้ขนาดใหญ่ของสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันเนตรพันกร ซึ่งเป็นองค์ประธาน และมีรูปปั้นขนาดเท่ามนุษย์ 1000 รูป มี 11 พักตร์ รูปปั้นจริงมีเพียง 42 แขนเท่านั้น เมื่อลบแขนปกติทั้งสองข้างแล้วคูณด้วยระนาบ 25 ระนาบ จะได้เท่ากับ 1000 มือพอดี นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของเทพเจ้าต่างๆ อีก 28 รูป อยู่ด้านหน้า

    พระอวโลกิเตศวร
    สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ วัดซันจูซันเก็นโด

    ทางวัดได้สร้างองค์พระประธานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 11 พักตร์ พันกร ประดิษฐานในท่านั่ง สูงกว่า 3 เมตรอีก 1 องค์

    This image has an empty alt attribute; its file name is 61a92d8f6c5ebc1c2ddf0376dcade55c-1-600x398.png
    องค์พระอวโลกิเตศวร พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ – พระประธาน
    พระอวโลกิเตศวร
    องค์พระอวโลกิเตศวร พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ – พระประธาน ที่มีดวงตาที่แกะสลักด้วยคริสตัล สูง 3.3 ม เป็นสมบัติของชาติ

    8. เกาหลี

    ไปต่อกันที่ประเทศเกาหลี คนเกาหลี เรียกพระโพธิสัตว์กวนอิม ว่า Gwaneum หรือ Gwanseeum-bosal (พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา) โดยเทวรูปมักจะตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของ อมิตาภะพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ ในเกาหลีรูปปั้นและภาพวาดจะเป็นรูปผู้หญิง อาจจะมีพบบ้างที่มีหนวด

    พระอวโลกิเตศวร
    รูปจาก http://koreantempleguide.com

    พระอวโลกิเตศวรพันมือ บางทีมี 9 หรือ 11 พักตร์ โดยพระพักตร์ 3 พักตร์ ที่หันไปทางซ้ายแสดงถึงความโกรธ ในขณะที่อีก 3 พระพักตร์ทางด้านขวามีรอยยิ้มอันเงียบสงบ พระพักตร์ทั้งสามที่ด้านหลังแสดงถึงความเมตตา ในขณะที่พระพักตร์ด้านหน้าแสดงถึงความสมดุล ความสงบ และพระพักตร์ที่สิบเอ็ดแสดงถึงปัญญา

    พระอวโลกิเตศวร
    ภาพจาก http://koreantempleguide.com

    วัดต่าง ๆ ในเกาหลีเอง ก็มักจะมีเทวรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่ คนเกาหลีนั้น จริง ๆ ไม่ค่อยนับถือศาสนาอะไร โดยการสำรวจพบว่าเกินครึ่งของประชากรระบุว่าไม่มีศาสนา ส่วนศาสนาพุทธแบบมหายานมีเพียงประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น

    พระอวโลกิเตศวร
    รูปแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่วัด Seokbulsa (วัดพระหิน)
    พระอวโลกิเตศวร
    รูปแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิม (รูปขยาย) ที่วัด Seokbulsa (วัดพระหิน)
    พระอวโลกิเตศวร
    พระโพธิสัตว์กวนอิม วัด Girimsa

    ศิลปะที่โดดเด่นอีกอย่างในเกาหลี คือ ภาพวาด Water-Moon Gwaneum ได้รับการขนานนามว่าเป็นภาพที่สง่างามของพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งผู้คนบูชาเพื่อให้ท่านช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บและปกป้องคุ้มครองในการเดินทาง ในภาพเขียน Water-Moon Gwaneum ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างหรูหราด้วยความรู้สึกอยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ ประทับนั่งบนโขดหิน ทรงพระวรกายเอียงไปด้านข้างเล็กน้อย ในท่าทางอันมีสง่าราศี ประทับขาข้างหนึ่งและเท้าอีกข้างวางบนดอกบัวอย่างแผ่วเบา ที่มุมล่างของภาพวาด มีรูปเด็กชายผู้แสวงบุญซึ่งเดินทางไปแสวงหาการตรัสรู้และปัญญา ปรากฏอยู่ในท่าบูชา

    เครื่องแต่งกายก็แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานที่โดดเด่นของจิตรกรโครยอ ชั้นของเสื้อคลุมและผ้าคาดเอวโปร่งแสงลดหลั่นลงมาตามส่วนโค้งของร่างกายอย่างสง่างาม และพร้อมกับเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา ลวดลายและเส้นของผ้าก็ส่องสว่างด้วยสีทอง การแสดงความลื่นไหลและความเปล่งปลั่งของเสื้อผ้าดังกล่าว ทำให้เกิดบรรยากาศที่ลึกลับ โดยรัศมีที่ล้อมรอบศีรษะและร่างกายที่ส่องแสงของพระโพธิสัตว์


    9. มองโกเลีย

    ประเทศที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับพุทธศาสนามากนัก ที่นี่มีวัดพุทธที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง คือ วัดกานดาน (Gandan Monastery) ชื่อวัดมีความหมายว่า “สถานที่ที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์แบบ” (Great Place of Complete Joy) เป็นวัดแบบทิเบต เป็นที่ประดิษฐานของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ ที่มีความสูง 26.5 เมตร และเป็นรูปปั้นในร่มที่สูงที่สุดในโลก รูปปั้นถูกรื้อถอนโดยโซเวียตในปี 1938 และกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปี 1996 เนื่องจากการบริจาคจากคนในท้องถิ่นทั่วทั้งเมือง ทำให้วัดนี้เป็นที่รักและศักดิ์สิทธิ์ของชาวมองโกเลีย

    ที่มา https://meanwhileinmongolia.com/gandan-monastery/

    พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ Gandan Monastery ภาพจาก arabiannights

    10. จีน

    ปิดท้ายกันที่ประเทศจีนที่นับว่ามีวัดและศิลปะของพระโพธิสัตว์มากที่สุด แต่น่าแปลกใจที่อ่านเจอหลายๆ บทความว่า คนจีนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองไม่ได้นับถืออะไร คือ คนจีนมีความเชื่อ แต่ไม่มีศาสนา หรืออาจจะบอกได้ว่า คนจีนนับถือหลากหลาย ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า พุทธ และเทพเจ้าต่างๆ มากมาย นับถือเยอะไปหมด แต่ก็ไม่ได้นับถืออะไรสักอย่าง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เวลา และหลายๆ อย่าง

    หลังจากที่เรารู้จักกับพระโพธิสัตว์กวนอิม water moon แล้ว ผู้เขียนจะพาไปที่เมืองอันหยู ที่นี่มีหินแกะสลัก “Water Moon Guanyin” ที่มีชื่อเสียงและวิจิตรมาก ในถ้ำ Pilu

    หินแกะสลัก “Water Moon Guanyin” ในถ้ำ Pilu

    อันหยู เป็นมณฑลเล็กๆ ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีประวัติยาวนานกว่า 1,500 ปี ทุกวันนี้ มีถ้ำมากกว่า 200 แห่ง ถ้ำปิลู Pilu ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีรูปปั้น 465 องค์ รูปปั้นที่วิจิตรงดงามที่สุดคือ “พระแม่กวนอิมไผ่ม่วง”

    พระอวโลกิเตศวร
    หินแกะสลัก พระแม่กวนอิมไผ่ม่วง

    ไปต่อกันที่ Water Moon เจ้าแม่กวนอิมแห่งทะเลใต้ (ราวศตวรรษที่ 10-11) ประติมากรรมชิ้นนี้มีชื่อเสียงและสวยงามมาก หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นภาพนี้ แท้จริงแล้วศิลปะชิ้นนี้อยู่นอกประเทศจีน โดยจัดแสดงที่ Nelson-Atkins Museum of Art นั่งอยู่ในท่านั่ง Mahārājalīlāsana บนฐานเลียนแบบหินขรุขระที่มีแขนขวาวางอยู่บนเข่า พับเข่าขวา แขนซ้ายวางอยู่บนก้อนหิน ขาซ้ายห้อยลงมาเหนือหินกองบนดอกบัว แกะสลัก ปิดทอง และลงสีในรายละเอียดที่หรูหรา

    พระอวโลกิเตศวร
    พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้ Nelson-Atkins Museum of Art

    ขอปิดท้ายด้วยงานประติมากรรมของพระอวโลกิเตศวร ที่เป็นมรดกโลก Dazu Rock Carvings ตั้งอยู่ในเขตนครฉงชิ่ง มีรูปปั้นประมาณ 50,000 รูป โดยมีตัวอักษรจีนมากกว่า 100,000 ตัวที่สร้างจารึก โดยหนึ่งในงานแกะสลักนั้นมีประติมากรรมเก่าแก่อายุ 800 ปี พระอวโลกิเตศวร

    พระอวโลกิเตศวร
    พระอวโลกิเตศวรพันมือที่ Dazu ก่อนที่จะทำการบูรณะ (ปี 2008)

    เนื่องจากสภาพอากาศที่รุนแรงและการกัดเซาะของน้ำ ทำให้พระพุทธรูปและงานแกะสลักต่างๆ นั้น มีการเปลี่ยนสีและแตกหักจำนวนมาก จึงเกิดโครงการ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 8 ปี ในการบูรณะงานแกะสลักหินที่เป็นมรดกโลกนี้ โดยการสแกนโฮโลแกรมและการประมวลผลแบบดิจิทัล

    ภาพงานบูรณะงานแกะสลักหิน โดยใช้เทคโนยีเข้ามาช่วย
    พระอวโลกิเตศวร
    พระอวโลกิเตศวรพันมือ ที่ Dazu หลังบูรณะใหม่

    พระอวโลกิเตศวร ในมุมมองที่ผู้เขียนรู้จัก

    ผู้เขียนอาจจะเป็นหนึ่งในหลายล้านคน ที่รู้สึก “กลัว” พระอวโลกิเตศวร โดยเฉพาะสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เช่นเดียวกับที่พระอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่รู้สึกกลัว “หลวงปู่มั่น” ยังไง ผู้เขียนก็รู้สึกแบบนั้น ถ้าถามว่าพระอวโลกิเตศวรสอนอะไร ก็ต้องย้อนกลับไปว่า ทุกวันนี้พระโพธิสัตว์มาโปรดเรื่องอะไร ปณิธานของพระอวโลกิเตศวรคือ “หากยังมีสัตว์โลกอยู่ในวัฏสงสารอยู่ พระองค์จะไม่ยอมนิพพาน เมื่อสัตว์โลกทั้งหมดหลุดพ้นหมดแล้ว พระองค์จึงจะเข้าสู่นิพพาน”  นี่คือคำตอบ คือ ท่านต้องการสอนให้สัตว์โลกนั้น ข้ามไปยังโลกุตระ หรือ เข้าสู่กระแสพระนิพาน

    บุคคลที่อธิษฐานใดๆ กับพระอวโลกิเตศวร บุคคลนั้น อย่างน้อยควรประกอบด้วยความดี ประกอบการงานที่ซื่อสัตย์สุจริต บุคคลที่หมายจะให้พระอวโลกิเตศวรช่วยให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารนั้น บุคคลนั้นควรประกอบไปด้วย ความเพียร ความอดทน อย่างยิ่งยวด เพราะท่านจะขนาบมิหยุดหย่อน

    หากแม้บุคคลใด ต้องการให้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเมตตา บุคคลนั้น ควรตั้งจิตเพื่อทำนุบำรุงศาสนา และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น แม้ชาตินี้ท่านอาจไม่สมปรารถนา แต่ด้วยจิตอันตั้งมั่นนี้ เมื่อถึงวาระอันเหมาะสมท่านจะสมปรารถนา

    และบุคคลใด ที่อธิฐาษด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ตั้งจิตมั่น และปรารถนาในสิ่งที่ดี ท่านจะตอบรับด้วยคำว่า

    “ขอให้ความปรารถนาที่ดีงามของท่านนั้นจงสำเร็จเถิด”


    อ่านเพิ่มเติม

    # พระถังซัมจั๋ง – ประวัติ บันทึกการเดินทาง และตามรอยพระถังซัมจั๋งบนเส้นทางสายไหม

    พระถังซัมจั๋ง