พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

Time reading :: 12 minutes

เรื่องราวของพุทธประวัติ รวมทั้งเหล่าพระอรหันต์สาวก อุบาสกอุบาสิกา ที่เป็นเลิศในด้านต่างๆ ที่เราเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมนั้น หลายๆ คนอาจจะไม่เคยลำดับเรื่องราวว่า แต่ละพรรษาพระพุทธองค์ทรงมีภารกิจอะไรบ้าง

พุทธประวัติ ฉบับ timeline นี้ ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่า การเรียบเรียงอาจจะไม่ได้ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงนั้นมีข้อมูลในรายละเอียดแตกต่างกัน และมีบางส่วนที่ผู้เขียนทำการวิเคราะห์เอง จึงไม่แนะนำให้ใช้บทความนี้ในการอ้างอิงใดๆ หากแต่อ่านเพื่อเสริมความรู้เท่านั้น

หมายเหต

  • ตัวอักษรสีแดงหนา คือ พระภิกษุอรหันต์ ซึ่งเป็นอสีติมหาสาวก หรือ พระสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป
  • ตัวอักษรสีน้ำเงินหนา คือ พระภิกษุณีอรหันต์

สารบัญ :: พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

  1. ประสูติ ตรัสรู้ จนถึงผนวชพรรษาที่ ๒๐
  2. พรรษาที่ ๒๑-๔๕
  3. สรุป infographic พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

ประสูติ

80 ปี ก่อนพุทธศักราช พระโพธิสัตว์พระนามว่า “เจ้าชายสิทธัตถะ” โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระองค์ทรงถือกำเนิดในศากยวงศ์ สกุลโคตมะ ประสูติ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ณ ลุมพินีวัน หลังจากประสูติได้ ๗ วัน พระพุทธมารดาเสด็จสวรรคต พระน้านางมหาปชาบดีโคตมี ได้เป็นผู้ถวายอภิบาลเลี้ยงดู

การประสูติและดำเนินได้ ๗ ก้าวนั้น ปัจจุบันยังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า แท้จริงแล้ว เป็นธรรมาธิษฐาน โดย ๗ ก้าวนี้ ท่านอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า เป็นข้อปฏิบัติ ๗ ขั้น (โพชฌงค์ ๗) เพื่อให้คนตรัสรู้ นอกจากนี้ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้สังเกตอีกว่า หนังสือ พุทธประวัติ จะมีอยู่ ๓ แนวทาง คือ

แนวแรก เน้นหนักไปทางปาฏิหาริย์เพื่อให้คนเลื่อมใส
แนวที่สอง เน้นไปทางตำนานหรือประวัติศาสตร์
แนวที่สาม เน้นหนักไปด้านธรรมะที่พระองค์ได้ค้นพบ

สหชาติของพระพุทธเจ้า

ก่อนผนวช

พราหมณ์ชื่อ “โกณฑัญญะ” พยากรณ์ว่า พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

  • ทรงได้รับการบำเรอในพระราชวัง จนวันหนึ่งได้เสด็จออกประพาส เทวดาได้เนรมิตเทวทูต ๔ (นิมิต ๔) ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จนเกิดความรู้สึกสังเวชพระทัยในชีวิต มีพระทัยแน่วแน่ที่จะออกผนวช

ออกผนวช

เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงออกผนวช ปลงผม นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากพระราชวัง เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาต

  • พระนามเรียกขานพระองค์ว่า พระสมณโคดม (คำว่า โคดม มาจากคำว่า โคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราชวงศ์ศากยะ)
  • ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและ อุทกดาบส โดยใช้เวลาศึกษาไม่นาน จนบรรลุฌาน ๘ แต่พระองค์ประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงขอลาจากอาจารย์
พระนามของพระพุทธเจ้า

บำเพ็ญเพียร

ทรงจาริกไปหลายตำบล จนถึงอุรุเวลาเสนานิคม และบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นี่

  • ปัญจวัคคีย์ มาปฏิบัติตนเป็นศิษย์ ด้วยคาดหวังว่า เมื่อพระองค์บรรลุแล้ว จะได้สอนพวกตนด้วย โดยพระองค์ได้เริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤษฏ์ ที่เรียกว่า ทุกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน
  • พระองค์บำเพ็ญทุกกรกิริยาต่างๆ ๖ ปี จนกระทั่งเกิดความคิด ขึ้นมาว่า ทรงเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง เผ็ดร้อน อันเกิดจากความเพียร อย่างสูงสุด แต่ก็หาบรรลุธรรมไม่ หรือ นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้
  • เมื่อระลึกได้ว่า ไม่ควรกลัวต่อสุขอันเว้นจากกามและอกุศลทั้งหลาย ความสุขชนิดนั้น คนที่มีร่างกายหิวโหย จะบรรลุธรรมได้เช่นไร จึงหันกลับมาฉันอาหาร ปัญจวัคคีย์เห็นเช่นนี้แล้ว จึงพากันจากไป เหตุเพราะเห็นว่าพระองค์ทรงละความเพียร
เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าแก่พระสารีบุตรถึงการทำความเพียรที่เรียกได้ว่า “ผิดวิธี” หรือ การกระทำอันสุดโต่ง เช่น

ตบสีลวัตร เปลือยกาย ไม่รับอาหารหารปลา เนื้อ ฉันอาหารน้อย กินเปลือกไม้ ยืนเดินบนหนาม นอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ลงไปแช่น้ำเย็นวันละสามเวลา
ลูขวัตร ทำตนเศร้าหมองสกปรก เช่น เอาดินโคลนทาตัวจนแห้งเกรอะกรัง จนสะเก็ดขึ้น
เชคุจฉิวัตร คือ มีสติระมัดระวังตัว จะค่อยๆ ก้าวขาไม่ให้เหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยตาย
ปวิวิตตวัตร หลบหน้าคน เมื่อได้ยินเสียงคนมาก็วิ่งหนีไม่ให้เห็น
มหาวิกฏโภชนวัตร คลานสี่ขา กินขี้โค กินปัสสาวะและอุจจาระตัวเอง
อุเบกขาวัตร นอนในป่าช้าทับกองกระดูก เด็กเลี้ยงโคซัดฝุ่นใส่บ้าง เอาไม้แหลมๆ ทิ่มหู ถ่ายใส่บ้าง ก็ไม่รู้สึกโกรธ

กินน้อย เอามือลูบท้องก็เหมือนลูบกระดูกสันหลังเพราะแทบจะอยู่ชิดกัน เมื่อคิดจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ล้มพับ เอามือลูบลำตัวขนก็ร่วงลงมา

เรียบเรียงจาก หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์
ต้นหว้า
ชมพูทวีป แปลว่า “ทวีปแห่งต้นหว้า” “ชมพู” แปลว่า“ต้นหว้า”

ตรัสรู้

พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติดำเนินทางสายกลาง

พุทธประวัติ ในต่างประเทศนั้น บางตอนก็ไม่เหมือนกับที่เราซะทีเดียว ยกตัวอย่าง ตอนที่ พระอินทร์ ดีดพิณ 3 สาย ว่า ตึงไปหรือหย่อนไปไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง แต่ในต่างประเทศ (อ้างอิงจากหนังสือ พุทธประวัติ ฉบับยุวชน ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ แปลมาจากต้นฉบับต่างประเทศ) กลับเป็นผู้หญิงร้องเพลง ว่า “เมื่อสายพิณของเราหย่อนเกิน ย่อมส่งเสียงไม่น่าฟัง …” หรือแม้แต่ตอนพระองค์หมดสติ เนื่องจากขาดพละกำลัง ของไทยเขียนไว้ว่า มีเทวดานำอาหารทิพย์ มาแทรกเข้าตามขุมขนของพระองค์ ทำให้ทรงมีพละกำลังอย่างเดิม แต่ต่างชาติกลับเขียนว่า มีเด็กเลี้ยงแพะมาถวายนม แก่พระองค์
  • นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา นางเห็นพระองค์นั่งอยู่ใต้ต้นไทร คิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาสด้วยถาดทองคำ
  • หลังจากเสวยแล้วพระองค์ทรงจับถาดทองคำอธิษฐาน ว่า ถ้าเราจะได้ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดทองคำลอยทวนกระแสน้ำไปแต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ (ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป)
  • เวลาพลบค่ำทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า “แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด”
  • ก่อนตรัสรู้ ทรงกําหนดสมาธินิมิต ทรงกั้นจิตจากกามคุณในอดีต ทรงค้นวิธีแห่งอิทธิบาท ทรงค้นลูกโซ่แห่งทุกข์ ทรงพยายามในญาณทัศนะเป็นขั้นๆ จนกระทั่งตรัสรู้
  • อวิชชาเปรียบประดุจเปลือกฟองไข่ที่ห้อหุ้มอยู่ในหมู่สัตว์ทั้งหลาย ทรงทำลายเปลือกหุ้มนั้นออกมาได้ก่อนใครๆ เป็นบุคคลผู้เดียวในโลกได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความรู้ที่ระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (ความรู้ในจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย) และอาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น)
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์

พรรษาที่ ๑ อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

ทรงโปรดปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕

  • ปฐมเทศนา ในเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ ให้เดินทางสายกลาง (มรรค ๘) ไม่ข้องแวะในกาม และทำตนให้ลำบากเกินไป ทรงสอนเรื่อง อริยสัจ ๔ พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก (บรรลุโสดาบัน) ท่านจึงขอบวช และเป็นพระภิกษุองค์แรก หลังจากนั้น พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบท
  • ทรงสอนพระสูตรถัดมา คือ อนัตตลักขณสูตร ว่าในเรื่องขันธ์ห้า ไม่ใช่ตัวตน ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ สำเร็จเป็นพระอรหันต์
  • พระยสะ (มารดา คือ นางสุชาดา ผู้ที่ถวายข้าวมธุปายาส) ครั้งเมื่อเป็นเศรษฐี รู้สึกเบื่อหน่าย จึงอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”  เดินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงแสดงอนุปพพิกถาและอริยสัจ ๔ จนสำเร็จอรหัตผล
  • อุบาสก และ อุบาสิกา คนแรกที่ได้ดวงตาเห็นธรม คือ บิดาและมารดาของพระยสะ
  • สหายของพระยสะ ๔ คน คือ พระวิมล พระสุพาหุ พระปุณณชิ พระควัมปติ และอีก ๕๐ คน ได้ฟังอนุปพพิกถาและอริยสัจ รวมเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์ในโลก – ทรงส่งพระสาวก แยกกันไปประกาศพระศาสนา
  • โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ ซึ่งมีบริวาร ๑๐๐๐ คน โดยอาทิตตปริยายสูตร พระสูตรที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ)
อนุปพพิกถา ตามประวัติทรงแสดงแกคฤหัสถ์เท่านั้น อนุปุพพกถา แปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป มี
1.ทาน 2.ศีล 3. สวรรค์ (ที่เป็นที่ข้องติด น่ารักใคร่ พอใจ) 4.โทษในกาม 5.การออกจากกาม

พรรษาที่ ๒ – ๓ – ๔ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองมีอำนาจก่อน คือ กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ มคธ โดยมีพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า พิมพิสาร ซึ่งได้ถวายที่ประทับ คือ สวนไผ่ หรือ เวฬุวัน และในช่วงพรรษานี้ทรงได้สาวกที่มีความสำคัญหลายองค์

  • ทรงได้พระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตร อักครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระโมคคัลลานะ
  • พระมหากัสสปะ ผู้ที่บวชอุทิศบรรพชา คือ บวชเพื่ออุทิศแก่พระพุทธเจ้า โดยตอนนั้นท่านยังไม่รู้ว่าผู้ใดจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่พอได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทร จึงเข้าไปหมอบที่พระบาทและแสดงตนเป็นสาวก
  • เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ พระสงฆ์สาวกมาประชุมกัน ประกอบด้วยองค์ ๔ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชา พุทธเจ้าประทาน โอวาทปาติโมกข์
  • พระปุณณะ หลานของพระอัญญาโกณฑัญญะออกบวช
  • พราหมณ์พาวรี ส่งศิษย์ ๑๖ คน โดยมีพระอชิตะ เป็นหัวหน้า กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดเพื่อทดสอบพระพุทธองค์ หลังจากได้รับคำตอบแล้ว ศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ได้บรรลุพระอรหัตผล
  • ต้นพระพรรษาที่ ๒ พระเจ้าสุทโธทนะประสงค์ให้ กาฬุทายีอำมาตย์ ผู้เป็นหนึ่งในสหชาติ ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เมื่อเข้าเมืองทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ และแสดงธรรมแก่หมู่พระญาติและประชาชน
  • พระนันทะ ออกผนวชด้วยความจำใจ เพราะมีความเกรงใจต่อพระพุทธองค์ที่ชวนท่านออกผนวชในวันที่ท่านจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี  ท่านหลงใหลในหญิงรูปงามแม้กระทั่งในขณะบวช จนเกิดความละอายใจ จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหันต์
  • พระราหุล ออกบวช เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ
  • ราชกุมารทั้ง ๖ พระภัททิยะ (พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร) พระอนุรุทธะ พระอานันทะ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระเทวทัต รวมถึงพระอุบาลี ที่เป็นช่างกลบก ได้ตามพระพุทธเจ้าไปขอบวชหลังจากที่ทรงกลับจากเมืองกบิลพัสดุ์
  • อนาถปิณฑิกะเศรษฐี คหบดีกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ได้เดินทางมากรุงราชคฤห์ มีประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จนกระทั่งมีโอกาสได้ฟังธรรม เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างอารามถวาย ชื่อ เชตุวัน
  • หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์ประจำพระองค์ และพระเจ้าพิมพิสาร
  • พระราธะประสงค์จะออกผนวช แต่ไม่มีใครผนวชให้เพราะเกรงว่าจะคนแก่จะสอนยาก เมื่อทรงทราบจึงให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ เนื่องจากพระสารีบุตรระลึกได้ว่าเคยรับบิณฑบาตจากท่านราธะ ที่เดิมเคยเป็นเศรษฐี แต่ถูกทิ้งตอนแก่ จึงกลายเป็นคนยากจนอนาถา
  • พระมหากัจจายนะเป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต เมื่อสำเร็จอรหัตผลแล้ว ทรงจึงให้ท่านเป็นผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในกรุงอุชเชนี ท่านมีวรรณะงดงาม ทำให้มีผู้เข้าใจผิดบ่อยๆ ว่า เป็นพระพุทธเจ้า มักสร้างรูปท่านในลักษณะพระอ้วนๆ
พุทธประวัติ Timeline

พรรษาที่ ๕ ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี

  • ขณะที่ประทับอยู่ที่ศาลาในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี ทรงทราบข่าวประชวรของพระบิดา จึงเสร็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมขณะที่พระบิดาประชวร จนได้เข้าสู่นิพพาน
  • พระนางมหาปชาบดีโคตมีขอบวชเป็นภิกษุณี พระอานนท์ทูลขอหลายครั้งแต่ทรงปฏิเสธ จนกระทั่งพระอานนท์ทูลถามว่า สตรีเมื่อบวชแล้วจะได้แจ้งในธรรมหรือไม่ ทรงตอบว่า ได้ แต่จะต้องมีข้อปฏิบัติพิเศษสำหรับภิกษุณี
  • พระนางยโสธรา ออกบวช ได้ชื่อว่า พระภัททากัจจานาภิกษุณี บรรลุอรหันต์ เป็นผู้มีมหาอภิญญา สามารถระลึกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัป เหมือนกับพระโมคคัลลานะเถระ พระสารีบุตรเถระ และพระพากุลเถระ
  • พระรูปนันทา พระขนิษฐภคินีของพระนันทะ ออกบวชตามด้วย แต่ไม่ได้บวชด้วยความศรัทธา พระนางเป็นผู้มีรูปงามจึงติดอยู่ในรูป จนกระทั่งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมว่า สรีระกายนี้ เป็นดั่งเมืองกระดูก ฉาบทาด้วยเนื้อและเลือด อันเป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความทะนง และความลบหลู่ผู้อื่น พระนางได้บรรลุพระอรหัตผล
  • นางวิสาขา พบพระพุทธเจ้า เมื่อตอนอายุ ๗ ขวบ เมื่อได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าจึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นอีกหลายปี นางวิสาขาได้แต่งงานและย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถี และได้เป็นอุบาสิกาที่ให้ทานเป็นเลิศ
  • สัจจกนิครนถ์ นักบวชผู้หลงตน ยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่า ไม่เห็นใครที่โต้ตอบวาทะกับตนแล้วจะไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว จึงชักชวนเจ้าลิจฉวี ๕๐๐ พระองค์ ให้ไปดูการโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า
พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

พรรษาที่ ๖ มกุลบรรพต

  • พระปิณโฑลภารทวาชะ แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เหาะขึ้นไปปลดบาตร เป็นเหตุให้บัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ ถ้าฝ่าฝืนจะต้องอาบัติ
  • พวกเดียรถีย์ ในกรุงสาวัตถี ไม่พอใจพุทธศาสนา จึงนำเครื่องบรรณาการไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อขอพระราชทานที่ดินเพื่อจะสร้างสำนักของตนใกล้ๆ พระเชตวันวิหาร
  • ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ต่อมหาชน เหตุที่ทรงแสดงปาฏิหาริย์ได้เพราะทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามสาวก แต่ไม่ได้บัญญัติเพื่อตนเอง และยมกปาฏิหาริย์ เป็นการแสดงของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
  • ในพระคัมภีร์มีกล่าวถึง พระนางอุบลวรรณาเถรี ผู้มีเอตทัคคะในด้านมีฤทธิ์ อาสาแสดงฤทธิ์แทนพระบรมศาสดา (หลังพรรษาที่ ๕ เริ่มมีภิกษุณี)
พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

พรรษาที่ ๗ ดาวดึงส์เทวโลก

  • ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงเทศนาเหล่าเทพ เทวดา พรหม ตลอดพรรษา ทำให้มีผู้บรรลุเป็นพระอริยะ รวมทั้งพุทธมารดาได้รับฟังแแล้วบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด
  • เมื่อถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์ วันออกพรรษานั้นโลกทั้ง ๓ คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง ๓ โลก อธิบายได้ว่า ได้มีการสนทนาธรรมในทุกภูมิทุกชั้น
  • ในตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ เป็นตอนที่แสดงอภินิหารไว้มาก ตั้งแต่มีบันไดพาดลงมาจากสวรรค์ ถึงเมืองสังกัสสะ ความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่ทุกวันนี้
พญานาคราช
บทความตอนหนึ่งในพระคาถาพาหุง ชัยชนะของพระพุทธองค์ (ไม่ระบุว่าพรรษาไหน) ทรงโปรดพญานาคนันโทปนันทะ และพกาพรหม

พรรษาที่ ๘  เภสกลาวัน   ใกล้เมืองสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท

  • ทรงโปรดสองสามีภรรยาคฤหบดี นุกุลบิดา และนกุลมารดา เข้าเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่น ๆ
  • โพธิราชกุมาร ถามพระพุทธองค์ว่า เมื่อภิกษุมีพระองค์เป็นผู้ชี้แนะแล้ว ต้องใช้เวลาเท่าไรจึงสามารถบรรลุธรรมได้ ทรงตอบว่า ภิกษุผู้มีความเพียร ใช้เวลาอย่างมาก ๗ ปี หรือ หนึ่งวัน ,หนึ่งคืน หรือแม้กระทั่งสั่งสอนในเวลาเย็น บรรลุธรรมในเวลาเช้า สั่งสอนในเวลาเช้าบรรลุธรรมในเวลาเย็น
  • ช่วงที่ทรงเข้าพรรษา เป็นช่วงฤดูหนาว ทรงออกบัญญติสิขาบท ไม่ให้ภิกขุก่อไฟ

พรรษาที่ ๙  กรุงโกสัมพี

  • นางมาคันทิยา หนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน มีความโกรธแค้น ผูกอาฆาตต่อพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่พราหมณ์ผู้เป็นพ่อ ได้เคยนำนางมาคันทิยามาถวาย แต่ทรงไม่ประสงค์ เมื่อได้พบพระพุทธองค์อีกครั้ง จึงจ้างคนให้ไปด่าทอต่างๆ นาๆ ทรงกล่าวกับพระอานนท์ว่า นางจะกล่าวได้ไม่เกิน ๗ วัน พวกปากรับจ้างด่าจนเมื่อยปาก ก็เกิดความเบื่อหน่าย เลิกด่าไปเอง เรื่องก็สงบลงใน ๗ วัน เมื่อนางทำอะไรไม่ได้ ความแค้นยิ่งทวีความรุนแรง นางทำการวางเพลิงสังหารหมู่พระอัครมเหสีและบริวารอีก ๕๐๐ นาง ผู้ซึ่งเป็นโสดาบัน
  • มีเหตุการณ์ที่สงฆ์แตกแยกกัน เนื่องจากภิกษุมีความเห็นเรื่องข้ออาบัติและไม่อาบัติต่างกัน ทรงไม่ได้บังคับแม้ว่าจะบังคับได้ ทรงประทานโอวาทเพื่อระงับ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ยอมปรองดองกัน ทรงเสด็จออกจากโฆสิตารามแต่ผู้เดียว และมุ่งไปหาพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และ พระกิมพละ (พระอุรุทธะตอนนั้นยังเป็นพระโสดาบัน ทรงแสดงธรรมจะสำเร็จอรหัตผล ) ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าปาลิเลยะ
พระอนุรุทธะ เป็นเลิศในด้านทิพยจักขุ ใช้เวลาบำเพ็ญเพียรถึง 8 ปี
พระอานนท์ บรรลุโสดาบันหลังจากฟังธรรมจากพระปุณณะ บรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน
พระภัคคุ และ พระกิมพิละ ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่มีประวัติเล่าไว้เป็นพิเศษ
พระอุบาลี เป็นผู้แตกฉานด้านวินัย

พรรษาที่ ๑๐   ป่าปาริเลยยกะ

เมื่อประทับอยู่ในป่าปาริเลยยกะตามพระอัธยาศัยแล้วก็เสด็จกลับกรุงสาวัตถี ภิกษุชาวโกสัมพีที่แบ่งเป็นสองฝ่าย ชาวบ้านต่างก็ไม่ต้อนรับไม่ถวายภัตตาหาร เหล่าพระภิกษุจึงตามเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี เหตุการณ์จบลงที่มีการทำ สามัคคีอุโบสถ เกิดขึ้น

ในบาลีพระวินัย ไม่ได้บอกว่าทรงจำพรรษาที่ป่าปาริเลยยกะ แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเล่าว่า ได้ทรงจำพรรษา ณ ป่าปาริเลยยกะ มีช้างชื่อปาลิไลยกะได้เข้ามาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เมื่อคราวที่ช้างปาลิไลยกะจะทำร้ายพระอานนท์เพราะคิดว่าเป็นศัตรู พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกว่าพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ซึ่ง ณ พรรษาที่ ๑๐ พระอานนท์ ยังไม่ได้เป็น จึงไม่สมเหตุสมผล

อ้างอิงจาก – หนังสือ “๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก : พรรษาที่ ๑๐ รักขิตวัน หรือ ป่าปาริเลยยกะ

พรรษาที่ ๑๑   หมู่บ้านพราหมณ์ เอกนาฬา

  • ทรงโปรดพราหมณ์ ชื่อ กสิภารทวาชพราหมณ์ ตำบล ทักขิณาคิริ เมืองมคธ ทรงตรัสแสดงการทำนาของพระองค์
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมมีแต่พิธีพราหมณ์ จนกระทั่งรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้เพิ่มพิธีสงฆ์ เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล โดยยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่กสิภารทวาชพราหมณ์ “กสิภารทวาชสูตร” มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล ส่วนอีกวัน คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีสืบมาจนถึง พุทธศักราช ๒๔๗๙  แล้วเว้นว่างไป ภายหลังรัชกาลที่ ๙ ทรงรักษาประเพณีเดิม และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
  • มีเรื่องเล่าว่าในครั้งที่ทรงเสด็จผ่านนาของชาวมคธ ในอีกหลายปีต่อมา ทรงได้ให้พระอานนท์ออกแบบจีวรตามแบบคันนาของชาวมคธ ซึ่งใช้ตามกันจนถึงปัจจุบัน
แรกนาขวัญ

พรรษาที่ ๑๒   เมืองเวรัญชา

เวรัญชพราหมณ์ ได้กล่าวตู่แก่พระพุทธเจ้า แต่ทรงแก้คำตู่ได้หมด จนศรัทธาและเชิญพระพุทธเจ้าจำพรรษาในเมืองเวรัญชา แต่พราหมณ์กลับลืมคำเชิญ ไปทำกิจที่เมืองอื่น ช่วงนั้นชาวเวรัญชาอยู่ด้วยความอดอยาก ภิกษุที่จำพรรษาต้องกินข้าวแดงที่พ่อค้าม้าแบ่งให้ตลอดทั้งพรรษา

พรรษาที่ ๑๓   จาลิกบรรพต เมืองจาลิก

  • นางวิสาขาย้ายมาอยู่ในเมืองสาวัตถีเนื่องจากแต่งงานกับบุตรของมิคารเศรษฐี
  • โปรดพระเมฆิยะ ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นพระอุปัฏฐาก โดยพระเมฆิยะต้องการไปบำเพ็ญเพียรผู้เดียวในป่าอัมพวัน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะญาณยังไม่แก่กล้า จึงกลับมาหาพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็เพียรพยายาม ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

พรรษาที่ ๑๔   เชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี

  • ทรงประทับที่เชตวันวิหารที่สร้างถวายโดยอนาถปิณฑิกะเศรษฐี เป็นพรรษาแรก และประทับอยู่ที่นี่รวม ๑๙ พรรษา
  • นางวิสาขาสร้าง วิหารบุพพาราม เมืองสาวัตถี จึงมี ๒ อารามคือ บุพพาราม และ เชตวัน
  • พระราหุล อายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์

พรรษาที่ ๑๕   นิโครธาราม กบิลพัสดุ์

  • นิโครธาราม กบิลพัสดุ์ เป็นอารามที่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาสร้างถวายแด่พระพุทธองค์ ต่อมาพระศากยะสร้างถวายหลังใหม่
  • ทรงปรารภถึงเรื่อง เจ้าหญิงโรหิณีซึ่งเป็นน้องสาวของพระอนุรุทธะ พระนางป่วยเป็นโรคผิวหนัง เมื่อถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์แล้ว ทรงเล่าถึงกรรมเก่าอันเกิดจากความโกรธ ความริษยา
  • ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะนั้น มีแม่น้ำชื่อว่า “โรหิณี” ไหลผ่านลงมา ชาวศากยะและชาวโกลิยะจึงทำทำนบกั้นน้ำร่วมกัน เมื่อชาวเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะทะเลาะเพราะแย่งน้ำในการทำนาและอุปโภคบริโภค เหตุเกิดจากภัยแล้ง กษัตริย์ของทั้งสองเมืองต่างเตรียมรบกัน จึงเสด็จไประงับเหตุ
แม่น้ำทั้ง5

พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี

ทรงโปรดอาฬวกยักษ์ โดยทรงขึ้นประทับบนบัลลังก์ของยักษ์ อาฬวกยักษ์โกรธมากใช้ฤทธิ์เดชรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถทำร้ายพระพุทธองค์ได้ จึงเปลี่ยนใจออกปากไล่ พระพุทธองค์ทรงเสร็จออกไปและเข้ามาอย่างว่าง่าย ทรงใช้ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ทำตามเจ้ายักษ์ เมื่อยักษ์คลายโกรธ ทรงตอบปัญหาจนอาฬวกยักษ์มีศรัทธาและได้ดวงตาเห็นธรรม

พรรษาที่ ๑๗ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

พระอภัยราชกุมาร ผู้ซึ่งเป็นบิดาของ หมอชีวกโกมารภัจจ์ เดิมนับถือ ศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร หรือ ศาสดามหาวีระของศาสนาเชน ได้ตั้งคำถามกับพระพุทธองค์ว่า พระองค์เคยตรัสวาจาที่ไม่เป็นที่ชอบใจคนอื่นบ้างไหม เมื่อทรงอธิบายอย่างชัดเจนแล้ว จึงปฏิญาณตนขอเป็นอุบาสก

พรรษาที่ ๑๘-๑๙ จาลิกบรรพต เมืองจาลิก

ไม่ปรากฏในบันทึก

สังเวชนียสถาน4

พรรษาที่ ๒๐ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

  • พระอานนท์เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ เมื่อพรรษาที่ ๒๐
  • ทรงโปรดพระองคุลิมาล โจรองคุลิมาลผู้ดุร้ายถือดาบไล่ฆ่ามนุษย์ แล้วตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลัย เมื่อเหลืออีกเพียงนิ้วเดียวก็จะครบพัน จึงคิดจะฆ่าหญิงชราซึ่งไม่รู้ว่าเป็นแม่ของตน พระพุทธองค์ทรงไปยับยั้ง องคุลิมาลวิ่งไล่ยังไงก็ไม่ทัน และบอกให้ทรงหยุด แต่ทรงตรัสว่า “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล แต่เธอสิยังไม่หยุด ”

พรรษาที่ ๒๑-๔๔ สลับไปมาระหว่างเชตวัน กับ บุพพาราม

พระองค์จำพรรษาอยู่ที่เมืองสาวัตถี โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง

ผู้เขียนขอหยิบยกเรื่องราวสำคัญ ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดช่วงพรรษาที่ ๒๑ เป็นต้นไป

  • พระเรวตะ และ พระสีวลี

พระสารีบุตรกราบทูลขอพระพุทธเจ้าถึงสองครั้ง เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะผู้เป็นน้องชาย อายุ ๗ ปี แต่ได้บรรลุอรหัตแล้ว ทรงยับยั้งพระสารีบุตรไว้ จนเมื่อออกพรรษาทรงไปเยี่ยมด้วยตนเองพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เมื่อไปถึงทางสองแพร่ง เป็นทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางตรงนี้เป็นถิ่นของอมนุษย์ ทรงถามพระอานนท์ว่าพระสีวลีมาด้วยหรือไม่ หมู่เทวดาเมื่อรู้ว่าพระสีวลีมาจึงพากันจัดที่พักและอาหารบิณฑบาตถวายพระสีวลี พระพุทธองค์พร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระ จึงทรงยกย่องให้พระสีวลีเป็นเอคทัคคะในด้าน “ผู้มีลาภมาก”

  • พระพาหิยะ

พระพาหิยะ คิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ จึงเดินทางไปหาพระพุทธเจ้าและขอให้ทรงแสดงธรรม ๒ ครั้ง แต่เนื่องจากขณะที่ขอนั้นทรงกำลังบิณฑบาตอยู่ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เมื่อพระพาหิยะ ทูลขออีกครั้ง ทรงโปรดแสดงธรรม จิตของพระพาหิยะจึงหลุดพ้น แต่หลังจากนั้นท่านก็โดนโคแม่ลูกอ่อนขวิด เสียชีวิต พระพาหิยะเป็นเอคทัคคะในด้าน “ผู้ตรัสรู้เร็ว”

  • จิญจมาณวิกา

เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลาย พวกเดียรถีย์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อน จึงส่ง นางจิญจมาณวิกา ไปให้ร้ายพระพุทธองค์ นางแกล้งทำว่าตั้งท้อง โดยผูกไม้ไว้ให้ท้องกลมโตสมจริง ยืนด่าว่าใส่ร้ายพระองค์ท่ามกลางพุทธบริษัทที่มาฟังพระธรรมเทศนา ไม่ว่านางจะกล่าวร้ายอย่างไร ก็ทรงสงบพระหฤทัย เทพบุตรจำแลงเป็นหนูเข้าไปกัดผ้าที่ผูกท่อนไม้ให้ขาด ความจริงจึงปรากฏ ทำให้นางได้รับความอับอายและอดสู ถูกมหาชนขับไล่ พอพ้นประตูวัดนางก็ถูกแผ่นดินสูบลงสู่อเวจีมหานรก

  • พระเทวทัต

เมื่อความอิจฉา ริษยาครอบงำ ทำให้พระเทวทัตผูกเวร เต็มไปด้วยโทสะ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หลายครั้ง เช่น วางแผนปล่อยพญาช้างนาฬาคิรี แต่เมื่อพระองค์ทรงแผ่เมตตาจิต พญาช้างกลับหมอบลง นิ่งสงบ จ้างนายธนู ๑๐ ผลัด ไปลอบยิงพระพุทธองค์แต่ไม่สำเร็จ จึงลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏผลักก้อนหินใส่ จนสะเก็ดหินกระเด็นใส่จนพระบาทห้อโลหิต เมื่อความพยายามไม่เป็นผล พระเทวทัตจึงยุยงให้สงฆ์แตกกัน จนกระทั่งเกิดสำนึกผิด แต่ด้วยการกระทำที่ผิดและร้ายแรงนั้น เมื่อเท้าเหยียบพื้นสระโบกขรณี พระเทวทัตจึงถูกธรณีสูบ

  • พระเจ้าอชาตศัตรู

เชื่อคำยุยงของพระเทวทัตได้แย่งราชสมบัติจากพระเจ้าพิมพิสารและปลงพระชนม์พระราชบิดาในเวลาต่อมา ขึ้นครองราชย์ในแคว้นมคธ มาสำนึกผิดได้ตอนที่พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูประสูติพอดี

  • พระเจ้าสุปปพุทธะ

พระบิดาของพระเทวทัต เกิดความอาฆาตหลังจากพระเทวทัตถูกธรณีสูบ จึงกลั่นแกล้งด้วยการเกณฑ์อำมาตย์ และข้าราชบริพารไปดื่มกินสุราเพื่อขวางทางเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหาร ๑ วัน ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า นับจากนี้อีก ๗ วันพระเจ้าสุปปพุทธะจะเสด็จตามพระเทวทัตไปสู่อเวจี

  • พระเจ้าวิฑูฑภะ

เหตุเกิดจากที่หมู่พระญาติศากยะ ส่งนางวาสภขัตติยา พระมารดาที่เกิดจากนางทาสมาแต่งกับพระบิดา คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อวิฑูฑภะราชกุมารเสด็จเยี่ยมพระญาติแห่งศากยะ ได้รับความอับอาย จนเกิดความเคียดแค้น ชิงชัง ทรงแย่งชิงราชสมบัติจากพระเจ้าปเสนทิ และยกกองทัพไปทำลายล้างพวกเจ้าศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์จนเกือบจะสิ้นราชวงศ์ (พระพุทธเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่ครั้งที่ ๔ ทรงทราบถึงวาระกรรมของหมู่พระญาติที่ไม่อาจจะหลีกหนีได้พ้น พระองค์ไม่ได้ไปห้ามทัพ และตรัสว่าพระเจ้าวิฑูฑภะจะลงนรกอย่างรวดเร็ว) พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพกลับมาพักที่ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำ ในเวลากลางคืนน้าไหลบ่ามาอย่างแรงเหล่าทหารและพระเจ้าวิฑูฑภะเสียชีวิต

แผนผังศากยะวงศ์

พรรษาที่ ๔๕ ปรินิพาน เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

ถึงแม้พระพุทธองค์จะจำพรรษาอยู่ในเมืองโกศล เป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี แต่ในระหว่างปีนั้น พระองค์ทรงเสด็จไปโปรดสัตว์ทั่วทุกถิ่น ในช่วงก่อนที่จะปรินิพานนี้ ทรงประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จากนั้นเดินทางไปยังจำพรรษาที่เมืองเวสาลี ในพรรษานี้พระองค์ประชวรนัก แต่ทรงดำริว่า จะต้องแจ้งให้ภิกษุสงฆ์ทราบล่วงหน้าก่อนปรินิพพาน

  • เส้นทางนั้นผ่านสวนอัมพลัฏฐิกา นาลันทา ปาฏลิคาม บ้านโกฏิคาม (เสด็จสู่หมู่บ้านนี้โดยข้ามแม่น้ำคงคาด้วยปาฏิหาริย์ คือ ไม่ใช้เรือแพ ทรงหายจากฝั่งนี้แล้วปรากฏอีกฝั่ง) หมู่บ้านนาทิกะ
  • ที่ปาวาลเจดีย์ พญามารปรากฎเพื่อทูลให้ทรงปรินิพาน ทรงกล่าวว่า อีกสามเดือนต่อจากนี้ จักปรินิพพาน พระอานนท์ทูลขอให้ทรงอยู่ต่อถึงหนึ่งกัลป์ด้วยอิธิบาทถึงสามครั้ง แต่ทรงปฏิเสธ เพราะทรงเคยแสดงนิมิตถึง ๑๖ แห่ง แต่พระอานนท์ไม่รู้ตัว
  • ทรงเสด็จไปยังป่ามหาวัน กูฏคารศาลา ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย และกล่าวกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ทรงเสด็จไปหมู่บ้านภัณฑคาม หัตถิคาม อัมพคาม ซัมบุคามและประทับที่อานันทเจดีย์ที่โภคนคร
  • ที่เมืองปาวา ทรงประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ และเสวย “สูกรมัททวะ” ที่นายจุนทะนำมาถวาย ซึ่งทำให้โรคประจำตัวของพระองค์ คือ ปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด) มีอาการสาหัส รุนแรงมากขึ้น
  • ทรงเสด็จไปต่อที่เมืองกุสินารา ทั้งที่ประชวรอย่างหนัก ทรงกระหายน้ำและให้พระอานนท์ไปตักน้ำ แต่พระอานนท์เห็นว่าน้ำน่าจะขุ่นอยู่เพราะมีเกวียนกว่าห้าร้อยเพิ่งจะผ่านไป ทรงตรัสซ้ำถึง ๒ ครั้ง เมื่อพระอานนท์ไปตักน้ำ น้ำนั้นกลับใสไม่ขุ่น
  • ทรงประทับสีหเสยยา ที่สวนป่าสาละซึ่งเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาล ทรงเปิดโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ทูลถามข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ แต่ภิกษุสงฆ์พากันนิ่งเงียบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระโอวาทครั้งสุดท้ายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”


อ่านเพิ่มเติม : ๙ เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง ที่นำมาเรียบเรียงเรื่อง พุทธประวัติ ฉบับ Timeline

1. หนังสือ “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
2. หนังสือ “๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
3. หนังสือ “พุทธกิจ ๔๕ พรรษา” โดย อ.สุรีย์ มีผลกิจ
4. https://www.vichadham.com/ “เล่าพุทธประวัติตามลำดับ 45 พรรษา”
5. หนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า” โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข
6. buddhamap http://www.buddhamap.org/images/family-tree.gif
7. หน่วยราชการในพระองค์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
8. ทรูปลูกปัญญา เรื่องของ พระนางมาคันทิยา : พุทธวิธีชนะคนไม่มีศีลที่มาด่าทอต่อว่า https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/61127