ภูริทัตชาดก : พญานาคผู้รักษาศีลยิ่งชีวิต

ภูริทัตชาดก : พญานาคผู้รักษาศีลยิ่งชีวิต

พญานาคภูริทัตแม้โดนทำร้ายก็ไม่ตอบโต้ มุ่งมั่นรักษาศีลแม้ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

บำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุด : ศีลบารมี

เรื่องย่อ ภูริทัตชาดก

พญานาคภูริทัตเป็นโอรสของท้าวธตรฐ เจ้าแห่งนาคพิภพ ภูริทัตมีความสนใจในศีลธรรมและพุทธศาสนาอย่างมาก จึงขึ้นมาจากนาคพิภพเพื่อรักษาอุโบสถศีลในโลกมนุษย์ โดยจะขึ้นมานอนขดอยู่บนจอมปลวก

วันหนึ่ง มีพราหมณ์ชื่ออาลัมพายน์พบเห็นภูริทัต และด้วยความโลภจึงใช้คาถาจับตัวภูริทัตไปแสดงในที่ต่างๆ เพื่อหาเงิน แม้ภูริทัตจะมีฤทธิ์มากมาย แต่เพราะกำลังรักษาศีลจึงไม่ต่อสู้หรือทำร้ายใคร ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายและบังคับให้แสดงต่างๆ นานา

แม้จะถูกทรมาน พญานาคภูริทัตก็ไม่โกรธ ไม่แสดงอิทธิฤทธิ์ตอบโต้ และยังคงรักษาศีลของตนอย่างมั่นคง สุดท้าย พญานาคได้รับการช่วยเหลือจากพระอนุชา และกลับไปยังเมืองบาดาลอย่างปลอดภัย

ชื่อและความหมาย

ภูริทัต แปลว่า “ผู้ประทานปัญญา” หรือ “ผู้มีปัญญามาก”

เกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับพญานาค

  • พญานาคแม้จะมีฤทธิ์และมีบารมีมาก แต่ยังจัดอยู่ในประเภท สัตว์เดรัจฉาน
  • พญานาคบางตนมีบุญมากและสามารถอยู่ในสวรรค์บางชั้น หรือในโลกของเทวดาได้
  • ในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่าพญานาคไม่สามารถบวชได้ เนื่องจาก ไม่ใช่มนุษย์
  • พญานาคสุภวัมปติเคยมีความปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พญานาคสุภวัมปติรักษาศีลและตั้งจิตปรารถนาให้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้า เพื่อที่จะสามารถบวชและปฏิบัติธรรมได้
  • พญานาคบางตนได้รับการยกย่องในฐานะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา เช่น พญามุจลินท์นาคราช ที่แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า
  • ในวัฒนธรรมไทยและลาว พญานาคถูกมองว่าเป็น ผู้มีอำนาจและคุณธรรม
  • พญานาคมักถูกเคารพในฐานะ ผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนา
  • พญานาคมีหลายสีและหลายตระกูล พญานาคที่เป็นใหญ่ที่สุดในบรรดาพญานาคทั้งหลายคือ พญาอนันตนาคราช ซึ่งมีอำนาจและฤทธิ์มาก

ผิดศีลหรือไม่ ดูที่เจตนา

พุทธศาสนานั้นมองว่า “บาป” อยู่ที่ “เจตนา” ดังเช่น เรื่องที่สมเด็จพระพุฒนาจารย์โต พรหมรังสี “กินเหล้า” 😱

เมื่อครั้งที่ท่านต้องเทศน์เรื่อง “โทษของสุรา” ท่านได้ดื่มสุราก่อนเทศน์ ซึ่งปกติถือเป็นอาบัติสำหรับพระสงฆ์ ทำให้ต้องถูกเรียกไปชี้แจงต่อเถรสมาคม ท่านได้อธิบายเหตุผลอย่างน่าสนใจว่า การที่ท่านดื่มสุราก่อนเทศน์นั้น เพราะท่านยึดหลักสัจธรรม – ท่านไม่เคยดื่มสุรามาก่อน จึงไม่รู้ว่าความมึนเมาเป็นอย่างไร แล้วจะสอนให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างไร

ท่านยังชี้แจงว่า หากท่านเทศน์เรื่องสุราโดยไม่เคยลิ้มรสมันเลย ก็จะเป็นการพูดในสิ่งที่ไม่รู้จริง ซึ่งผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า การสอนธรรมะต้องไม่มุสา

ผิดศีล

เรื่องชวนคิด

ทำไมภูริทัตจึงไม่หลบหนี ทั้งที่การหลบหนีไม่ได้เป็นการผิดศีล ?

ถ้าลองมองในแง่ของความเป็นพระโพธิสัตว์ แม้การหลบหนีจะไม่ผิดศีล แต่การที่ภูริทัตเลือกที่จะอดทนและเผชิญหน้ากับความยากลำบาก แสดงให้เห็นว่าภูริทัตต้องการบำเพ็ญบารมีในระดับที่สูงขึ้น การไม่หลบหนีเป็นการพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการรักษาศีล และการทดสอบจิตใจให้มั่นคงไม่หวั่นไหวแม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์

มื่อเรารักษาศีลแล้ว เราจะได้อะไร หากผู้อื่นเจตนาทำผิดศีลกับเรา เราจะเป็นแต่ผู้ถูกกระทำหรือไม่ ?

การรักษาศีลนั้นให้ผลกับเราในด้านจิตใจ เพราะเราไม่ต้องกังวลหรือรู้สึกผิด เพราะรู้ว่าเราไม่ได้เบียดเบียนใคร อีกทั้งยังเป็นการสร้างบารมี ส่วนกรณีที่ผู้อื่นเจตนาทำผิดศีลกับเรา เราไม่ได้เป็นเพียงผู้ถูกกระทำเท่านั้น ศีลจะคุ้มครองเรา บางครั้งเราอาจรอดพ้นจากอันตรายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ศีลจะเป็นเกราะป้องกันทั้งทางกายและใจ แม้ร่างกายอาจถูกทำร้าย แต่จิตใจยังมั่นคงเพราะรู้ว่าตนไม่ได้ทำผิด

ดังเช่นภูริทัต แม้จะถูกหมองูทรมาน แต่ด้วยอานุภาพแห่งศีล ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นมาได้

บทสรุป

เรื่องภูริทัตเป็นชาดกที่สอนได้มากกว่าที่คนทั่วไปคิด ไม่เพียงแค่เรื่องการรักษาศีล แต่ยังแสดงให้เห็นว่าการยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อนั้นสำคัญเพียงใด แม้จะเจออุปสรรคหรือความทุกข์ ก็ต้องอดทน หากเราลองคิดให้ดี เรื่องราวนี้เปรียบได้กับชีวิตจริงที่ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ทุกวัน การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ ล้วนต้องผ่านความยากลำบากด้วยกันทั้งสิ้น

– ยอมตายดีกว่าทำลายศีล –
การรักษาศีลคือการยืนหยัดในคุณธรรม แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก

ภูริทัตชาดก
ภูริทัตชาดก

ข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม : ทศชาติชาดก

เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก มโหสถชาดก