เจ้าภาพทอดกฐิน
Time reading :: 5 minutes
บุญที่ทำได้แค่ปีละครั้ง และอาจจะเป็นเจ้าภาพได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต
ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานกฐินสามัคคี (มหากฐิน) ที่ชุมชนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ในขณะที่อยู่ในงานพิธีนั้น ผู้เขียนมองเห็นบุคคลผู้ซึ่งเป็นปุถุชนที่โดดเด่นที่สุดในงานทอดกฐิน ก็คือ เจ้าภาพทอดกฐิน เรื่องของกฐินและการเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และน่าแปลกที่หลายๆ คน พอถึงจุดหนึ่งของชีวิต จะเกิดความคิดที่ว่า ชาตินี้ขอให้ได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐินสักครั้งหนึ่งในชีวิต
จองกฐิน
ในการทอดกฐินนั้นมีธรรมเนียมว่าต้องจองล่วงหน้าก่อนเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน เนื่องจากแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้ง เมื่อมีผู้ศรัทธาจำนวนมากก็จำเป็นต้องจอง โดยธรรมเนียมมักให้โอกาสแก่ผู้ที่มี “ศรัทธามาก” ได้ทอดก่อน
คำว่าศรัทธามาก คือ แบบไหน ? เงินมาก หรือ ตั้งใจแรงกล้า หรือต้องมีทั้งสองอย่าง ถ้าเราพิจารณาในเรื่องของ “เงิน” การเป็นเจ้าภาพทอดกฐินเพียงผู้เดียว อาจต้องใช้เงินหลักแสนเลยทีเดียว แต่หากเป็นวัดที่ไม่ใหญ่มาก อาจจะเป็นหลักหมื่น หรือ อาจจะเป็นเจ้าภาพร่วมก็ได้
ทั้งนี้ถ้าใครอยากจะเป็นเจ้าภาพก็ควรจะสอบถามกับทางวัดอีกทีว่ามีการกำหนดจำนวนปัจจัยขั้นต่ำที่จะถวายหรือไม่
การจองกฐินนั้น เจ้าภาพเล่าให้ฟังว่า ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เข้าไปหาเจ้าอาวาสและถามท่านว่าปีนี้ ปีนั้น มีใครจองแล้วยัง ถ้ายังก็เราก็ขอเสนอตัวได้เลย บางวัดอาจจะมีให้เขียนใบปวารณา และก็จะเป็นที่รู้กันในชุมชนเองว่าใครเป็นเจ้าภาพ และเจ้าภาพก็ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องพิธีรีตองอะไรเลย เพราะใกล้ถึงเวลาพระท่านจะเชิญเราเข้ามาพูดคุยเรื่องการเตรียมงานอีกที
ปัจจัย
ในมุมมองของคนที่เป็น “เจ้าภาพทอดกฐิน” นั้น ปัจจัยที่จะถวายพระจะมากหรือน้อยนั้นจริงๆ ควรขึ้นอยู่กับจิตศรัทธา คนที่ตั้งใจจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินแล้ว ก็อย่าได้คิดมากเลย การทำบุญนั้น อย่าได้อั้น เพราะบุญที่ทำนี้ เมื่อพิจารณาเห็นควรแล้วว่าเหมาะสมแล้วนั้น ย่อมให้ย่อมบริจาคในกาล เพื่อลดความตระหนี่ในตน อันจะส่งผลให้มิให้ขัดสนในกาลภายหน้า
กฐิน เป็นบุญของ “คนรู้”
หลวงพ่อมหาน้อยท่านเทศน์ได้อย่างน่าสนใจว่า กฐิน เป็นบุญของ “คนรู้” และบุญของ “ผู้ที่ฉลาดให้ของ” คือ เจ้าภาพทอดกฐิน ต้องมีความรู้ รู้ว่ากฐินมีขั้นตอนอย่างไร การไปปวารณาขอเป็นเจ้าภาพต้องทำอย่างไร รายการอาหารเลี้ยงแขก เลี้ยงพระ รวมถึงการจัดหาเครื่องกฐิน อันได้แก่ ไตรจีวร บาตร ตาลปัตร เสื่อ ที่นอน หมอน ผ้าห่มนอน มุ้ง ร่ม รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมายตามความเหมาะสม
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การบอกบุญกฐิน ให้กับญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน ชาวบ้าน ชวนมาร่วมทำบุญให้มากที่สุด ส่วนญาติธรรมที่มาร่วมทำบุญกับเจ้าภาพนั้น ก็ต้องมีความรู้ รู้ว่ากฐิน ได้บุญมาก ส่วนพระสงฆ์เองก็ต้องรู้ถึงอานิสงฆ์ 5 และมาติกา 8
บุญกฐิน เป็น โอกาสทองของชีวิต
การให้ทานนั้นมีหลายแบบก็จริง แต่กฐิน จัดเป็น กาลทาน คือ ทานที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับได้ตามกาล โดยมีกำหนดระยะเวลาถวาย หากถวายก่อนหรือหลังระยะกาลนั้นไม่ถือว่าเป็นกาลทาน
การถวายผ้ากฐินนั้น ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับได้ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ รวม ๑ เดือน จึงเป็นบุญชนิดเดียวที่พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา และพุทธศาสนิกชนควรทำบุญนี้
การที่จะทอดกฐินนั้น เราต้องนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป และเป็นพระที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และอยู่ในวัดเดียวกัน ประเทศไทยมีวัดอยู่ถึงสี่หมื่นวัด แต่เอาเข้าจริงในต่างจังหวัดแต่ละวัดอาจจะมีพระเพียงไม่กี่รูป โดยเฉพาะวัดเล็กๆ ในชุมชน อาจจะมีการนิมนต์พระจากวัดอื่นๆ มาร่วมทำพิธี ซึ่งจะเป็นการขัดพระธรรมวินัยหรือไม่นั้น ตรงนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่หยิบยกมาเป็นประเด็นกันอยู่
ผ้ากฐิน
กฐิน ไม่ใช่เงิน แต่ กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) กฐิน วัดแต่ละวัด สามารถรับผ้ากฐินได้เพียงแค่ ไตรเดียว หรือชุดเดียวเท่านั้น หรือที่เราเรียกว่า ไตรหลัก หรือ ไตรประธาน ที่เราจะนำไปกรานกฐิน ส่วนไตรอื่นๆ บางทีเรียกว่า ไตรรอง ถ้างานไหนมีเจ้าภาพคนเดียว เจ้าภาพก็จะเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติ ถวายผ้าไตรหลัก ทีนี้ถ้ามีเจ้าภาพหลายคนก็จะต้องตกลงกันเองว่าใครจะเป็นผู้ได้รับเกียรติให้ถวายผ้าไตรหลัก
แห่กฐิน
ในวันงานทอดกฐิน เงินของผู้ร่วมทำบุญจะถูกนำไปเสียบกับต้นกฐิน ส่วนเงินของเจ้าภาพนั้นจะแยกเป็นอีกกอง หรืออาจจะเอาเงินบางส่วนมาประดับตกแต่ง เช่น ทำเป็นรูปนกยูง เป็นพุ่มดอกไม้
เจ้าภาพทอดกฐินจะได้รับเกียรติให้เดินนำขบวนแห่และถือผ้าไตร ญาติธรรมและผู้ร่วมอนุโมทนาบุญทั้งหลายจะช่วยกันถือเครื่องบริวารกฐิน ไม่ว่าจะเป็นต้นกฐิน บาตร ตาลปัตร เครื่องสังฆทาน ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ของใช้ต่างๆ ของพระภิกษุสงฆ์ แห่รอบอุโบสถ 3 รอบ ที่จริงแล้วการแห่กฐินนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรียกได้ว่า สนุกครึกครื้นกันมาก
ในส่วนของพิธีกรรมสงฆ์นั้น เจ้าภาพก็ไม่ต้องเป็นกังวลใดๆ เกี่ยวกับพิธีกรรมเลย เพราะทุกอย่างจะมีคนบอกกล่าว เจ้าภาพเพียงแต่ตั้งสติให้มั่น ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตั้งจิตน้อมนำถวายผ้ากฐินนี้ และแผ่อานิสงส์ผลบุญนี้ไปยังบิดามารดา ญาติพี่น้อง บรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร แผ่ไปยังทั่วทุกสารทิศ
ธงกฐิน
ธงผืนยาวที่ปัจจุบันเราจะเห็นแค่ในงานทอดกฐินนั้น มี 4 ธง ซึ่งมีคนตีความเป็นปริศนาธรรมของแต่ละธง ไว้ดังนี้
- ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ
- ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง
- ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว
- ธงเต่า หมายถึง ความสงบนิ่ง ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว
ผู้เขียนสังเกตดูที่วัดที่ไปร่วมทำบุญ ก่อนงานทอดกฐินไม่เห็นมีธงตะขาบติดไว้หน้าวัด หลังงานทอดกฐินก็ไม่เห็นธงเต่าปักไว้ที่หน้าวัด จึงไม่แน่ใจว่าปัจจุบันวัดต่างๆ ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้อยู่หรือไม่
หลังเสร็จสิ้นงานพิธี เจ้าภาพทอดกฐินควรจะเก็บธงจระเข้และธงมัจฉาไว้เพื่อเป็นสิริมงคล ปัจจุบันมีธงที่รวมทั้งจระเข้และมัจฉาอยู่ในผืนเดียวกัน เหตุที่คนอยากได้ธงนี้มากเพราะเชื่อกันว่า จะมีความเจริญรุ่งเรือง ค้าขายดี จะเห็นว่าบางธงจะเขียนว่า มั่งมี ศรีสุข หรือ ค้าขาย ร่ำรวย เงินทอง
อานิสงส์ชั้นสูงสุดของการเป็น เจ้าภาพทอดกฐิน
พอเสร็จสิ้นพิธีแล้ว จะมีการสรุปยอดทำบุญทั้งหมดและถวายให้กับเจ้าอาวาสวัด สิ่งที่เจ้าภาพทอดกฐินพึงจะได้รับ คือ ความรู้สึกอิ่มเอิมใจ หรือ “ปิติ”
เพราะเจ้าภาพควรจะรู้สึกดีใจที่งานกฐินนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดีและไม่ได้สำเร็จเพราะคนเพียงคนเดียว แต่เป็นเพราะมีผู้ร่วมขวนขวายทำให้บุญนั้นไม่บกพร่อง นี่จึงเป็นอานิงส์ชั้นสูงสุดอย่างหนึ่งที่เจ้าภาพจะได้รับ คือ การกำจัดความหลง เพราะบุญกฐินนั้นทำมิได้ทำได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง อีกทั้งยังได้กำจัดความโลภในวัตถุ เพราะได้บริจาคทานนั้นแล้ว และสุดท้ายกำจัดความโกรธ เพราะเหตุที่ได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้นแล้ว
ชนทั้งหลายผู้มีปัญญา รู้ถ้อยคำ
คือ รู้ความประสงค์ของผู้มีความต้องการ
มีสันดานปราศจากความตระหนี่แล้ว
ย่อมให้บริจาคในกาล
…
ชนเหล่าใดมิใช่เจ้าของทาน
เป็นแค่ได้อนุโมทนา คือ ร่วมการกฐิน
หรือ ขวนขวายให้การกฐินสำเร็จไปได้ด้วยดี
ชนทั้งหลายเหล่านั้น
ก็ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น
ผู้มีจิตไม่ถอยกลับด้วยอำนาจกิเลส
ควรให้บริจาค
…
บุญกุศลทั้งหลาย
ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ทั้งในโลกนี้และในเบื้องหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :: |
– หลวงพ่อมหาน้อย # กฐิน บุญกฐิน CLIP068 เครื่องกฐิน ที่จำเป็น และ ไม่จำเป็น? – หนังสือ ประเพณีทำบุญในพุทธศาสนา โดย คุณเกษม บุญศรี |
อ่านเพิ่มเติม วัดพระธาตุช่อแฮ – พระเจ้าทันใจ # อธิษฐาน